กรุงเทพประกันภัย ประกาศผลการดำเนินงาน 9 เดือน ปี 2567

Date: 26 พฤศจิกายน 2567 ,ข่าวประกันวินาศภัย :- www.businessbiweekly.net
-------------

ทำกำไร 2,290.7 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรับรวม 23,122.5 ล้านบาท

กรุงเทพประกันภัย ประกาศผลการดำเนินงาน 9 เดือน ปี 2567 ทำกำไร 2,290.7 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรับรวม 23,122.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% มุ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่เข้าใจทุกความต้องการ พัฒนานวัตกรรมประกันภัยเพื่อความยั่งยืน ตอกย้ำการยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กร

ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) บริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 23,122.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีผลกำไรสุทธิจากการรับประกันภัยหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแล้ว 1,361.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15.9 ส่วนกำไรจากการลงทุนสุทธิเท่ากับ 1,304.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 ทำให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 2,666.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.4 และมีกำไรสุทธิ 2,290.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.0 คิดเป็นกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน 21.51 บาท นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงรักษาความแข็งแกร่งทางด้านการเงินด้วยการมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) สูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยอยู่ที่ร้อยละ 178.13 (ณ 30 ก.ย.67) และรักษาอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินในระดับสูงหรือ Credit Rating A- (Stable) (ณ ต.ค. 67) โดย Standard & Poor’s (S&P) สถาบันการจัดอันดับทางการเงินชั้นนำของโลก

ปัจจุบันกรุงเทพประกันภัยเป็นบริษัทย่อยที่สร้างรายได้หลักให้แก่ บริษัท บีเคไอ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BKIH ซึ่งประกอบธุรกิจผ่านการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยมุ่งลงทุนในธุรกิจหลักด้านการประกันภัยและธุรกิจอื่นที่หลากหลายและมีศักยภาพ สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) มีรายได้รวม 17,344.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการรับประกันภัย 15,917.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 จากรายได้จากการรับประกันภัยยานยนต์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และมีรายได้จากการลงทุน 1,427.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเงินปันผลรับและดอกเบี้ยรับ ด้านกำไรสุทธิเท่ากับ 2,277.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.5 คิดเป็นกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน 21.39 บาท โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท บีเคไอ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ครั้งที่ 1 สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 ให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 11.25 บาท ซึ่งได้จ่ายเงินปันผลแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา

ตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่เข้าใจในทุกความต้องการ

ตลอดปี 2567 บริษัทฯ มุ่งมั่นขยายธุรกิจด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เข้าใจไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด พร้อมส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านการมอบความคุ้มครองที่ครอบคลุม สอดคล้องกับความเสี่ยงต่างๆ ในรูปแบบ Personalized Insurance โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ กรุงเทพประกันภัยได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ที่เข้าถึงวิถีชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบัน ผ่าน 3 เทรนด์ที่น่าสนใจ ได้แก่ เทรนด์ Pet Humanization ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงและออกเดินทางร่วมกันมากขึ้น บริษัทฯ จึงเพิ่มความคุ้มครองการเสียชีวิตและค่ารักษาพยาบาลของสัตว์เลี้ยง (สุนัขและแมว) ที่อยู่ภายในรถยนต์เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการชน ให้แก่ผู้เอาประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ทุกแผนประกันภัย ทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าต่ออายุประกันภัย ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 โดยไม่ต้องเสียค่าเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมแต่อย่างใด ตามมาด้วยประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 อุ่นใจวัยเก๋า เพื่อรองรับสังคมสูงวัย (Aging Society) ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนอายุ 55-75 ปี ที่ชอบขับรถยนต์ด้วยตนเองในชีวิตประจำวัน ซึ่งเริ่มนำเสนอขายเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 รวมถึงประกันภัยสุขภาพ Telemedicine ที่พัฒนามาเพื่อรองรับบริการแพทย์ทางไกลให้ลูกค้าได้รับความสะดวกและเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเริ่มนำเสนอขายไปแล้วในช่วงเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา

พร้อมยกระดับนวัตกรรมการบริการให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าและคู่ค้าผ่านการให้บริการที่มีคุณภาพ เหนือความคาดหวัง สะดวก รวดเร็ว และดูแลเอาใจใส่ในทุกความต้องการของลูกค้า มุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ต่อยอดสู่ความเป็นเลิศในการให้บริการที่ไว้วางใจได้ ทุกที่ ทุกเวลา โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการพัฒนาด้านบริการสินไหมทดแทนยานยนต์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าให้ได้มากที่สุด อาทิ การพัฒนาระบบ i-Claim บริการเคลมรถยนต์ออนไลน์ บริการ Self Service Notification และการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าประกันภัยรถยนต์ด้วยการไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) เป็นต้น

ล่าสุดบริษัทฯ ได้เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าตามไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาต่อยอดการให้บริการลูกค้าผ่าน LINE @bangkokinsurance ที่ตอบโจทย์ด้านความสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2567 โดยอัตราการแจ้งเคลมรถยนต์ผ่าน LINE เพิ่มขึ้นกว่า 61% (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของลูกค้าที่ต้องการเลือกใช้บริการที่สะดวกและรวดเร็วผ่านช่องทางออนไลน์ บริษัทฯ จึงได้ขยายการให้บริการฟังก์ชันแจ้งเคลมรถน้ำท่วม ให้ลูกค้าสามารถนำใบแจ้งเคลมผ่านช่องทาง LINE นำรถเข้าซ่อมอู่ได้ทันที ไม่เพียงเท่านี้ยังเพิ่มช่องทางการแจ้งเคลมประกันภัยประเภทอื่นๆ เช่น ประกันอัคคีภัย ประกันภัยไซเบอร์ และประกันภัยโดรน รวมถึงเปิดให้สามารถแจ้งขอเอกสารลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย พร้อมกันนั้น บริษัทฯ ยังได้พัฒนาการบริการที่อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้ามากยิ่งขึ้น ด้วยการส่งมอบใบแจ้งความเสียหายผ่านออนไลน์ โดยให้ลูกค้าสามารถเลือกรับเอกสารในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล ผ่าน LINE และ Email ได้ทันทีจากเจ้าหน้าที่สำรวจอุบัติเหตุ ณ จุดเกิดเหตุ และสามารถส่งต่อไฟล์เอกสารดังกล่าวให้อู่ซ่อมได้อย่างรวดเร็ว เพื่อจองคิวซ่อมหรือจัดหาอะไหล่ไว้ล่วงหน้าก่อนเข้าซ่อมจริง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการสูญหาย อีกทั้งยังส่งเสริมการลดใช้กระดาษเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการใส่ใจดูแลลูกค้า ด้วยการเพิ่มความอุ่นใจผ่านระบบติดตามสถานะการดำเนินงาน (Progress Tracking) โดยกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเเละเริ่มเปิดให้ลูกค้าใช้บริการด้านสินไหมทดแทนยานยนต์บางส่วน คาดว่าจะให้บริการอย่างเต็มรูปแบบได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบสถานะในขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ผ่านช่องทาง LINE @bangkokinsurance ครอบคลุมทั้งงานด้านการรับประกันภัย การชำระเบี้ยประกันภัย และงานสินไหมทดแทน เช่น ตรวจสอบสถานะผลการตรวจสภาพรถยนต์ ขั้นตอนการจัดส่งกรมธรรม์ประกันภัย การชำระเบี้ยประกันภัย รวมถึงการตรวจสอบสถานะการเคลมสินไหมทดแทนว่าอยู่ในขั้นตอนใด เช่น การรับเอกสารการเคลม การตรวจสอบเอกสารการเคลม การประเมินราคา การจัดซ่อม การส่งมอบรถ การอนุมัติค่าสินไหมทดแทน และการโอนค่าสินไหมทดแทน เป็นต้น สำหรับตัวแทนและนายหน้าซึ่งเป็นคู่ค้าของบริษัทฯ จะสามารถตรวจสอบสถานะดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วผ่านช่องทาง Web Partner และเตรียมขยายช่องทางให้บริการลูกค้าและคู่ค้าผ่านช่องทาง Mobile Application อีกด้วย

ด้านการยกระดับคุณภาพการบริการของอู่ซ่อมในสัญญา เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถสร้างความประทับใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะอู่ซ่อมในสัญญานับเป็นหนึ่งใน Supply Chain ที่สำคัญของธุรกิจประกันภัย อีกทั้งปัจจุบันกรุงเทพประกันภัยยังมีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยรถยนต์สูงกว่า 44% บริษัทฯ จึงส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยได้จัดส่งทีมวิศวกรสำรวจภัยที่มีความเชี่ยวชาญเข้าสำรวจความเสี่ยงภัยของอู่ซ่อมในสัญญา เพื่อให้ข้อเสนอแนะแก่อู่ซ่อมให้มีการปรับปรุงเพื่อลดความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้น พร้อมส่งเสริมให้มีการปรับปรุงมาตรฐานและลดการปฏิบัติงานที่อาจสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนรอบข้าง เช่น การจัดการของเสียอย่างเหมาะสม การจัดทำแผนฉุกเฉินกรณีเกิดการรั่วไหลของสารเคมี การมีระบบบำบัดน้ำเสีย การควบคุมมลพิษทางเสียงและมลพิษทางอากาศที่อาจเกิดจากพ่นสีหรือซ่อมเครื่องยนต์ ตลอดจนให้ความรู้ผ่านกิจกรรม “ความปลอดภัยเริ่มที่ตัวเรา” โดยจัดอบรมให้ความรู้แก่ลูกค้า คู่ค้า รวมถึงอู่ซ่อมในสัญญาให้มีความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัยในสถานประกอบการ รวมถึงการจัดการด้านมลพิษ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังพัฒนาการให้บริการของอู่ซ่อมในสัญญาด้วยการจัดส่งคะแนนผลสำรวจความพึงพอใจและข้อเสนอแนะจากลูกค้าแก่อู่ซ่อมในสัญญาเป็นประจำทุกเดือน พร้อมกำหนดเกณฑ์และมาตรการที่จะนำไปปรับปรุงงานซ่อมรถยนต์ร่วมกัน โดยหลังจากได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 มีผลตอบรับที่ดีและอู่ซ่อมสามารถเพิ่มคะแนนความพึงพอใจจากลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง

จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เข้าใจไลฟ์สไตล์ยุคใหม่และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า พร้อมความมุ่งมั่นเพื่อยกระดับการบริการที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย เเละสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้าเเละคู่ค้า ส่งผลให้บริษัทฯ เติบโตเเละมีผลการดำเนินงานที่ดี อย่างไรก็ตามธุรกิจประกันวินาศภัยยังต้องเผชิญความท้าทายรอบด้าน อาทิ การลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัว ค่าเงินที่มีความผันผวนสูง กำลังซื้อของผู้บริโภคที่หดตัวจากภาวะหนี้สินครัวเรือน ปัญหาภัยธรรมชาติ รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ

สถานการณ์และแนวโน้มตลาดประกันภัยต่อ

นางสาวลสา โสภณพนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวถึงทิศทางภาพรวมตลาดการประกันภัยต่อในปี 2568 โดยคาดการณ์ว่าจะมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ที่น่าจับตามอง ดังนี้

• ผลประกอบการของบริษัทรับประกันภัยต่อ (Reinsurer) ได้รับผลกำไรจากการดำเนินงานรับประกันภัยต่อมากขึ้น เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการปรับเบี้ยประกันภัยต่อ (Reinsurance Pricing) เพิ่มสูงขึ้นมาก จากการที่ Reinsurer ทั่วโลกประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องจากความเสียหายจากมหันตภัยในหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างมากในยุโรป ทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานของ Reinsurer เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น Reinsurer จึงต้องการผลกำไรมากขึ้น ส่งผลให้มีการปรับเพิ่มอัตราเบี้ยประกันภัยต่อโดยเฉพาะในปี 2566 ที่มีสภาวะตลาดเป็น Hardening Market ทั่วโลก
• อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566-2567 แต่ขนาดของความเสียหายโดยรวมยังอยู่ภายใต้การประมาณการ อีกทั้ง Reinsurer ยังมีผลตอบแทนที่สูงจากการลงทุนในพันธบัตรและตลาดทุนโดยเฉพาะการลงทุนในสหรัฐอเมริกา ทำให้บริษัทรับประกันภัยต่อยังสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ปริมาณเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยต่อเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้นจากผลกำไรที่มากขึ้น
• จากปริมาณเงินกองทุนที่สูงขึ้น ทำให้บริษัทรับประกันภัยต่อส่วนใหญ่ต้องขยายงานเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าการต่อสัญญาประกันภัยต่อของบริษัทรับประกันภัยในปี 2568 ในสถานะที่เป็นผู้ซื้อความคุ้มครองจากสัญญาประกันภัยต่อในปีนี้ จะสามารถได้รับอัตราเบี้ยประกันภัยต่อใกล้เคียงกับปี 2567 แต่จะไม่ลดลงไปจากเดิม เนื่องจากสถานการณ์ของภัยธรรมชาติยังคงมีความเปราะบางสูง
สู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม ESG ยกระดับสร้างคุณค่าเพื่อโลกที่ดีกว่า

ในปี 2567 กรุงเทพประกันภัยได้พัฒนาต่อยอดสู่การเป็นปีแห่ง Regenerative ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุกกิจกรรมในห่วงโซ่คุณค่าที่บริษัทฯ จะส่งมอบให้แก่ลูกค้า คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม รวมถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ของบริษัทฯ เพื่อร่วมเป็นแรงขับเคลื่อนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน

นางสาวปวีณา จูชวน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ผลักดันให้มีนโยบายและกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG: Environmental, Social and Governance) ผ่านผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง พร้อมส่งเสริมสนับสนุนให้ลูกค้าและคู่ค้าของบริษัทฯ มีส่วนร่วมในการช่วยให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ดังนี้

• การออกกรมธรรม์ประกันภัยบ้านอยู่อาศัย Green Guarantee หากลูกค้ากรมธรรม์ประกันอัคคีภัยบ้านอยู่อาศัยเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือวัสดุ Green ในการซ่อมแซมบ้านอยู่อาศัย บริษัทฯ จะอนุมัติค่าสินไหมทดแทนเพิ่มให้ตามจริง ไม่เกิน 10% ของวงเงินที่อนุมัติให้ในครั้งแรก โดยเริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2567
• การเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าสามารถบริจาคเงินให้แก่องค์กรการกุศลแทนการรับของสมนาคุณ โดยให้ลูกค้าที่ซื้อประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลผ่านเว็บไซต์ของบริษัทฯ สามารถเลือกเปลี่ยน Gift Voucher หรือของสมนาคุณที่ได้รับเป็นเงินบริจาคแก่องค์กรการกุศลได้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567
• การส่งเสริมให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการบริจาค โดยจะหักค่าเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลและประกันภัยสุขภาพส่วนหนึ่งเพื่อมอบให้แก่องค์กรการกุศล ซึ่งจะเริ่มให้ลูกค้าที่ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยโรคมะเร็งกับบริษัทฯ โดยตรง หรือผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงเทพ มีส่วนร่วมในการบริจาคเงิน 50 บาทต่อกรมธรรม์ ให้แก่องค์กรการกุศล โดยไม่มีการปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยแต่อย่างใด เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2568
• การลดใช้กระดาษเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการจัดส่งกรมธรรม์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Policy) โดยบริษัทฯ ได้รณรงค์สนับสนุนการใช้ e-Policy อย่างต่อเนื่อง พร้อมจะขยายให้ครอบคลุมประกันภัยทุกประเภท และในปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้าจัดส่ง e-Policy ที่ 1.07 แสนกรมธรรม์ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษรวมเกือบ 2 ล้านแผ่น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการจัดกิจกรรมภายในที่ให้ความสำคัญด้าน ESG และสร้างการตระหนักรู้ของพนักงาน เช่น โครงการเปลี่ยนเสื้อเก่าเป็นเสื้อใหม่ ใส่ใจสิ่งเเวดล้อม เพื่อโลกที่ยั่งยืนของเรา ซึ่งพนักงานได้มีส่วนร่วมในการบริจาคเสื้อโปโลและเสื้อคอกลมที่ไม่ใช้งานเเล้วกว่า 500 กิโลกรัม นำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลผลิตเป็นเสื้อยืดรุ่นใหม่ของบริษัทฯ ได้กว่า 2,000 ตัว โดยเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะ ตลอดจนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันบริษัทฯ ได้จัดโครงการเปลี่ยนขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดยรวบรวมขยะเศษอาหารจากการรับประทานอาหารกลางวันของพนักงานนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งได้นำไปบำรุงต้นไม้ในบริเวณโดยรอบอาคารกรุงเทพประกันภัย รวมถึงแจกจ่ายให้แก่พนักงานที่สนใจ

ปี 2567 นับเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญในการเสริมสร้างความสำเร็จและขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ผ่านการฟื้นฟูยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกกระบวนการอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อยกระดับองค์กรให้แข็งแกร่งและเดินหน้าสู่ความยั่งยืนในระยะยาว


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 1,330,829