ยอดพุ่ง!! เกษตรกรแห่ทำประกันภัยข้าวนาปีแค่เดือนเดียว

กระแสตอบรับ 1.3 ล้านราย พื้นที่กว่า 20.02 ล้านไร่
คปภ. สานต่อลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านประกันภัยผ่าน Training for the Trainer จ. สงขลา

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรไทย ด้วยการออกกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ซึ่งเริ่มมีการรับประกันภัยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2560 มีเกษตรกรสนใจทำประกันภัยข้าวนาปีแล้วทั่วประเทศ จำนวน 1.3 ล้านราย มีพื้นที่ทำประกันภัยทั้งสิ้น 20.02 ล้านไร่

ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ในรอบหลายสิบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม ที่มีปริมาณน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเสียหายทั้งบ้านเรือนและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เบื้องต้นได้รับรายงานความเสียหายจากภัยน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 2.08 ล้านไร่ จากพื้นที่ที่ทำประกันภัย 13.54 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 15.41 สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ จึงได้ออกมาตรการเป็น 2 ส่วน ได้แก่ มาตรการป้องกันสำหรับพื้นที่ที่ยังไม่ถูกน้ำท่วมเพื่อลดผลกระทบ และมาตรการเยียวยาในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้วยการมอบเครื่องอุปโภค บริโภค และน้ำดื่ม แจกจ่ายให้กับประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมทั้งบูรณาการประสานความร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด บริษัทประกันภัย บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สาขาธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวบรวมข้อมูลความเสียหาย เพื่อประสานติดตาม เร่งรัดให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างรวดเร็ว ถูกต้องและเป็นธรรม

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้ออกมาตรการเยียวยาประชาชนผู้เอาประกันภัย สำหรับพื้นที่ประสบภัย น้ำท่วมไปแล้ว ด้วยการออกคำสั่งนายทะเบียนเพื่อผ่อนผันเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตในเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ตามรายงานสถานการณ์สาธารณภัย กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้แก่ มาตรการขยายระยะเวลาการผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ครบกำหนดชำระเบี้ยประกันภัยระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึง 31 สิงหาคม 2560 จากเดิมออกไปอีก 60 วัน นับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาผ่อนผันเดิม มาตรการยกเว้นดอกเบี้ยและงดการตรวจสุขภาพในกรณีต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยหมดอายุ มาตรการในการยกเว้นดอกเบี้ยการชำระคืนเงินกู้ชำระเบี้ยประกันภัยโดยอัตโนมัติภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระ รวมทั้ง ได้ออกประกาศ สำนักงาน คปภ. อนุญาตให้ตัวแทนประกันชีวิต ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต และนายหน้าประกันวินาศภัย ในพื้นที่เกิดอุทกภัยที่ใบอนุญาตหมดอายุให้สามารถขอขยายระยะเวลาพร้อมขอต่ออายุใบอนุญาตได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เหตุอุทกภัยนั้นได้สิ้นสุดลง

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อบริหารความเสี่ยงภัยจากภัยน้ำท่วมสำหรับในพื้นที่ภาคใต้ จึงควรมีการเตรียมมาตรการป้องกันภัยไว้ ทั้งการจัดหาพื้นที่กลางสำหรับจอดรถเพื่อป้องกันไม่ให้รถยนต์ของประชาชนถูกน้ำท่วม และการเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ที่ยังไม่ถูกน้ำท่วมให้รีบทำประกันภัยข้าวนาปี เพื่อบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งพื้นที่ภาคใต้ สามารถซื้อประกันภัยข้าวนาปีได้ตั้งแต่ก่อนเพาะปลูกจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2560

สำหรับ การจัดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) ปี 2560 ได้จัดอบรมครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศแล้ว 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด ขอนแก่น นครสวรรค์ สุโขทัย ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สกลนคร และสำหรับในครั้งสุดท้ายนี้ได้เลือกจัดที่จังหวัดสงขลา เนื่องจากได้พิจารณาอัตราการทำประกันภัยข้าว นาปีแล้วพบว่า จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ปลูกข้าว 120,060 ไร่ มีพื้นที่ที่ทำประกันภัย 69,141 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 57.59 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งจังหวัด ซึ่งมีอัตราการทำประกันภัยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของการทำประกันภัยข้าวนาปี ของภาคใต้ที่มีพื้นที่ทำประกันภัย คิดเป็นร้อยละ 41.11 และแม้ว่าจังหวัดสงขลาจะมีอัตราการทำประกันภัยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ การทำประกันภัยข้าวนาปีของภาคใต้ เพื่อเพิ่มพื้นที่การทำประกันภัยข้าวนาปีและเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์และความคุ้มครองของการทำประกันภัยข้าวนาปีมากยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2560 สำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการร่วมกับ สมาคมประกันวินาศภัยไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงพื้นที่ชุมชนพบปะเกษตรกรชาวนาที่เทศบาลตำบลระโนด อ.ระโนด โดยมีนายสุรชัย วงศ์ศุภลักษณ์ นายอำเภอระโนด ให้การต้อนรับ และนายคมศร บุญศิริ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาระโนด กล่าวรายงานสภาพปัญหาการรับประกันภัยนาข้าวในปีที่ผ่านมา โดยมีชาวนาเข้ารับฟังการชี้แจงในครั้งนี้กว่า 300 คน ณ หอประชุมสวนบูรพาจารย์ อ.ระโนด ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากเกษตรในพื้นที่

สำหรับประเด็นปัญหาในพื้นที่ อ.ระโนดคือ ระยะเวลาการรับประกันภัยไม่สอดคล้องกับระยะเวลาการเพาะปลูกข้าวของเกษตร เนื่องจากการประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง หรือฝนตกก่อนฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งเกษตรกรจะปลูกข้าวประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน และมกราคม-กุมภาพันธ์ จึงควรพิจารณาระยะเวลาการรับประกันภัยให้เหมาะสมตามระยะเวลาการเพาะปลูกจริง ซึ่งสำนักงาน คปภ.จะนำมาเป็นข้อมูลสำหรับการปรับปรุงพัฒนาต่อไป

สำหรับการแก้ไขในปีนี้ สำนักงาน คปภ.ได้แนะนำให้เกษตรกรในพื้นที่รีบขึ้นทะเบียนการเพาะปลูกกับ กรมส่งเสริมการเกษตรและซื้อกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีก่อนวันที่ 15 ธันวาคม 2560 เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองจากภัยธรรมชาติทั้งจากฝนทิ้งช่วงหรือภัยน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น ต่อจากนั้น ยังได้ลงพื้นที่ไปศึกษาดูงานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ และโครงการ 1 ไร่ 1 แสน ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ให้เกษตรได้มีภูมิคุ้มกันในการดูแลตนเองและครัวเรือน ณ ตำบลบ้านขาว อ.ระโนด ในโอกาสนี้ เลขาธิการได้เชิญชวนให้เกษตรกรซื้อประกันภัยข้าวนาปีด้วย

สำหรับการจัดอบรมความรู้ด้านประกันภัย (Training for the Trainers) ปี 2560 จัดขึ้นที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมบุรีศรีภู บูติกโฮเต็ล จังหวัดสงขลา โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 และเป็นครั้งสุดท้ายของโครงการฯปีนี้ ซึ่งถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากปีที่แล้วให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยโครงการนี้มุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถนำเอาระบบประกันภัยที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยเข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยงกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้ง มีความเข้าใจในเงื่อนไขความคุ้มครอง ขั้นตอนการขอรับค่าสินไหมทดแทน และหลักการพิจารณาการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ของกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี และยังได้จัดทำ Workshop พร้อมยกกรณีศึกษาการรับประกันภัยข้าวนาปี เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงสามารถนำองค์ความรู้ ที่ได้รับจากการอบรมมาถ่ายทอดต่อยอดความรู้ให้เกษตรกรและชาวนาในพื้นที่ได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง  โดยมี เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เข้าร่วมและกล่าวต้อนรับ และมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับการอบรมฯ ในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้กล่าวย้ำถึงประโยชน์และความสำคัญของการประกันภัยข้าวนาปี แม้ว่าจังหวัดสงขลาจะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก แต่มีการเกิดภัยน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง ดังเช่นในปี 2559 ได้เกิดน้ำท่วมที่จังหวัดสงขลา ถึง 3 ครั้ง ซึ่งการประกันภัยข้าวนาปีจะช่วยบริหารความเสี่ยงภัยดังกล่าวให้กับเกษตรกรได้ และยังได้กล่าวขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่เห็นความสำคัญและเลือกจังหวัดสงขลาเป็นสถานที่จัดการอบรมความรู้ประกันภัย

สำนักงาน คปภ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์และขยายผลไปถึงเกษตรกรชาวนาไทยได้มีความรู้ความเข้าใจ และเล็งเห็นความสำคัญของการประกันภัยมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการปฏิรูปนโยบายการประกันภัยพืชผล ซึ่งนำไปสู่การสร้างความมั่นคงในชีวิต และยกระดับรายได้ของเกษตรกรในประเทศต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Visitors: 1,330,826