ธุรกิจประกันชีวิตครึ่งปีแรกเบี้ยประกันชีวิตรับรวมติดลบ 6% ลุ้นตีตื้นครึ่งปีหลัง

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า 6 เดือนแรกปี 2562 (มกราคม – มิถุนายน) ธุรกิจประกันชีวิตผลิตเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 295,612.96 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา จำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ จำนวน 84,001.56 ล้านบาท อัตราเติบโตลดลงร้อยละ 8 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไปจำนวน 211,611.40 ล้านบาท อัตราเติบโตลดลงร้อยละ 5 ซึ่งมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตร้อยละ 78 สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย

(1) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก จำนวน 48,699.04 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.43
(2) เบี้ยประกันภัยรับชำระครั้งเดียว จำนวน 35,302.52 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 20
โดยจำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับตามช่องทางการจำหน่าย ดังนี้
อันดับ 1 การขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 143,810.66 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 48.65
หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.84 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
อันดับ 2 การขายผ่านธนาคาร จำนวน 128,321.78 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 43.41
หรือเติบโตลดลงร้อยละ 15.88 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
อันดับ 3 การขายผ่านช่องทางอื่นๆ 16,131.74 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 5.46
หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.13 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
อันดับ 4 การขายผ่านช่องทางการตลาดแบบตรง 7,348.97 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 2.49
หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.21 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ช่องทางการจำหน่ายที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง คือ ช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต และช่องทางการจำหน่ายอื่นๆ ที่หลากหลายขึ้น โดยช่องทางที่มีแนวโน้มสดใสคือ ช่องทางดิจิทัลหรือช่องทางอินเตอร์เน็ต เนื่องจากเป็นช่องทางที่สามารถตอบโจทย์ให้กับลูกค้าที่ใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี

ซึ่งสถานการณ์ของธุรกิจประกันชีวิตในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ค่อนข้างที่จะได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เป็นผลมาจากการส่งออกที่ลดลงอันสืบเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งและจากปัจจัยแวดล้อมของธุรกิจเอง เช่น การกำกับจากหน่วยงานภาครัฐผ่านประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตและปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต และธนาคาร พ.ศ. 2561 (Market Conduct) ที่ส่งผลให้ยอดขายผ่านช่องทางธนาคารลดลง ภาวะความกดดันจากเรื่องมาตรฐานรายงานทางบัญชีและการเงิน IFRS 9, IFRS 17 การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Capital : RBC2) และการเผชิญกับอัตราความเสียหายจากคนกลางและการฉ้อฉลประกันภัย (Fraud & Abuse) สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวเพื่อเตรียมรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นสาเหตุให้อัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในครึ่งปีแรกไม่เติบโตเท่าที่ควร 

สำหรับธุรกิจประกันชีวิตไทยในครึ่งปีหลัง 2562 คาดว่าอัตราการเติบโตจะมีการชะลอตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดยคาดว่าหลายบริษัทจะมีการนำเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบชำระครั้งเดียวด้วยความระมัดระวังจึงทำให้อัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยชำระครั้งเดียวชะลอตัวอย่างชัดเจน รวมทั้งเบี้ยประกันภัยต่ออายุก็มีอัตราการเติบโตชะลอตัวเช่นเดียวกัน และมีอัตราความคงอยู่ที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากมีกรมธรรม์ที่ชำระเบี้ยประกันภัยครบกำหนดแล้วหากแต่ยังมีผลความคุ้มครองอยู่ (Paid up) เป็นจำนวนมาก ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ที่ประกอบด้วย เบี้ยประกันภัยรับปีแรก และเบี้ยประกันภัยรับชำระครั้งเดียว มีอัตราการเติบโตชะลอตัวตาม ส่วนแนวโน้มผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับความนิยมจะเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทความคุ้มครองเป็นหลัก เช่น ประกันสุขภาพ หรือแบบประกันควบการลงทุน

อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาคธุรกิจจะเผชิญกับความท้าทายจากหลากหลายปัจจัย หากแต่คาดการณ์ว่าธุรกิจประกันชีวิตยังคงมีเบี้ยประกันภัยรับรวมเติบโตเทียบเท่ากับปี 2561 ที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจไทย ในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดประมาณการจีดีพีในปี 2562 ลงที่ 3.3- 3.8% จากเดิมเคยคาดการณ์ไว้ว่าเติบโต 3.5 – 4.5% แต่ถึงอย่างไรสภาวะเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังก็มีแนวโน้มปรับตัวดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะผลักดันนโยบายให้สอดคล้องกับที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้ง อาทิ นโยบายประชารัฐ ประกันรายได้พืชผลเกษตร รวมถึงนโยบายเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย ประกอบกับประเทศไทยในปัจจุบันมีอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่เพียงร้อยละ 39 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าตลาดประกันชีวิตในประเทศไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐที่มีนโยบายกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการมีความคุ้มครองและการวางแผนการเงินเพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ประชาชนส่วนใหญ่ก็เริ่มตระหนักถึงเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่มีการปรับตัวสูงขึ้นทุกปี ประกอบกับทุกคนอยากได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีและสะดวกรวดเร็ว ความต้องการเหล่านี้กระตุ้นให้คนจำนวนมากเริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับประกันสุขภาพมากขึ้นรวมถึงมาตรการทางภาษีจากภาครัฐที่ส่งเสริมให้ผู้เอาประกันภัยสามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตและประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้ พร้อมกับมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนอื่นๆ จากหน่วยงานที่กำกับดูแล เช่น การผ่อนคลายกฎระเบียบเรื่องการลงทุน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากหน่วยภาคธุรกิจ อาทิ การปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารการขายของแต่ละบริษัทประกันชีวิตให้มีความเหมาะสมกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายต่อเนื่องและเหมาะสมกับบุคคลในแต่ละช่วงวัย ตลอดจนการพัฒนาการให้บริการที่มุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศในทุกๆ ด้านด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงการพัฒนาและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้นครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย การส่งเสริมและสนับสนุนให้ความรู้ด้านการประกันชีวิตแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ที่เข้าถึงประชาชนได้สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจก้าวไปถึงเป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าว


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 1,330,765