ม.มหิดล และ มูลนิธิมั่นพัฒนา เปิดศูนย์วิจัยและหลักสูตร ป.เอก
สาขาวิชาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืนแห่งแรกของโลก ย้ำ 4 คุณสมบัติที่ผู้นำแห่งความยั่งยืนต้องมี
•มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อยอดองค์ความรู้ “ศาสตร์ของพระราชา” ชูแนวคิดหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นรากฐานการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ครอบคลุมมิติด้านสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ
กรุงเทพฯ – มหาวิทยาลัยมหิดล โดยวิทยาลัยการจัดการ ร่วมกับ มูลนิธิมั่นพัฒนา เปิดตัว “ศูนย์วิจัยภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Center for Research on Sustainable Leadership) เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์แห่งการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ หรือ “ศาสตร์ของพระราชา” ให้กับนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ นักพัฒนา ตลอดจนประชาชนผู้สนใจเกี่ยวกับการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สอดรับบริบทสังคมโลกที่หันมาให้ความสำคัญและมุ่งเน้นรูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน รุดเปิดหลักสูตรปริญญาเอก “สาขาวิชาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน” (Ph.D. in Sustainable Leadership) หลักสูตรแรกของประเทศไทยและแห่งแรกของโลก มุ่งหวังเป็นกลไกลหลักในการสร้างบุคลากรนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ ในการวางรากฐานการบริหารองค์กรธุรกิจด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืน ขณะเดียวกันยังสามารถนำความรู้ในสาขาที่ถนัดไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และกระจายต่อแนวคิดดังกล่าวสู่สังคม เพื่อสร้างความสมดุลในมิติต่างๆ ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ พร้อมย้ำคุณสมบัติสำคัญ 4 ด้านที่ผู้นำต้องมีเพื่อนำพาประเทศชาติ และองค์กรไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน คือ 1. มีคุณธรรม (Virtue) 2. มีความคิดแบบพอประมาณ (Sufficiency mindset) 3. มีผลลัพธ์ของการจัดการที่สมดุล (Sufficiency balanced outcomes) และ 4. มีภูมิคุ้มกัน (Self Immunity)
คุณจีราวรรณ บุญเพิ่ม กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกได้หันมาให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น ภายหลังองค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs Sustainable Development Goals เพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปเป็นเป้าหมายพัฒนาประเทศของตนให้ยั่งยืน ซึ่งแนวทางดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ประเทศไทยได้ดำเนินการมาอย่างยาวนาน ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบิตร หรือที่ทุกคนรู้จักดีในนาม “ศาสตร์ของพระราชา” ศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่พระองค์ท่านทรงใช้เพื่อแก้ไขพัฒนาให้ประชาชนในแต่ละภูมิสังคม สามารถดำรงชีพได้อย่างสมดุลในมิติด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ทำให้มีความรู้มากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งที่ได้รับการถอดบทเรียนและยังไม่ได้รับการถอดบทเรียน ฉะนั้น แนวทางที่จะทำให้เกิดเป็นต้นแบบที่ถูกต้องสามารถนำไปเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อไปนั้น จำเป็นต้องอาศัยความตั้งใจจริง ความเพียร และการสนับสนุนร่วมมือกันจากหลายฝ่าย ด้วยเหตุนี้มูลนิธิมั่นพัฒนาจึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในการนำเอาองค์ความรู้เหล่านี้ไปจัดหมดวหมู่ให้เป็นระบบโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เผยแพร่อย่างกว้างขวางในหมู่นักพัฒนาของประเทศ เพื่อนำเอาไปปรับใช้ในองค์กรและชุมชนของตน ก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ อย่างยั่งยืน
ด้าน รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องถอดแบบงานพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อสานต่องานตามพระราชดำริ โดยเน้นถึงความสำคัญในการสร้างขีดความสามารถให้กับนิสิตนักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัย บุคลากร และประชาชน ให้มีความรู้ความสามารถด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอย่างมากและต้องหาทางออกให้ได้ ซึ่งการบริหารจัดการที่ไม่มองถึงความยั่งยืนในอนาคต เร่งสร้างฐานะทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวหรือแก้แต่ปัญหาเฉพาะหน้านั้น ไม่ใช่หลักการพัฒนาและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิมั่นพัฒนากับมหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Center for Research on Sustainable Leadership: CRSL) ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และนักวิจัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดหลักสูตร “ปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน” (Ph.D. in Sustainable Leadership) เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยผู้จบหลักสูตรดังกล่าวจะสามารถนำความรู้ด้านการพัฒนา ในสาขาที่ถนัดไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และกระจายต่อแนวคิดดังกล่าวไปสู่การสร้างสังคมโลกยุคใหม่ที่ยั่งยืน
รศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร รองคณบดีงานวิจัย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า หลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน ถือเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยและแห่งแรกของโลก ที่มีการพัฒนารูปแบบการศึกษาที่เชื่อมโยงกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบิตร หรือ “ศาสตร์ของพระราชา” อย่างเป็นระบบ ซึ่งได้ทำการเปิดรับสมัครนักศึกษาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา - วันที่ 5 มีนาคม 2561 และมีกำหนดเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคม โดยตัวหลักสูตรจะองค์ความรู้ครอบคลุมในหลากหลายมิติ ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการของผู้นำ (Management Areas of Leadership) โดยการมุ่งเน้นศึกษาวิจัยและสร้างความเข้าใจ ในการสร้างภาวะผู้นำอย่างยั่งยืนอันเป็นคุณสมบัติสำคัญ 4 ด้านที่ผู้นำต้องมีเพื่อนำพาประเทศชาติและองค์กรไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน คือ 1. มีคุณธรรม (Virtue) คือภาวะผู้นำที่นำเอาความดีงาม เช่น ความซื่อสัตย์อดทน ขยันหมั่นเพียร การแบ่งปัน ทั้งหมดนั้นมาเป็นพื้นฐานในการบริหารงาน 2. มีความคิดแบบพอประมาณ (Sufficiency mindset) คือไม่มากไปไม่น้อยไป 3. มีผลลัพธ์ของการจัดการที่สมดุล (Sufficiency balanced outcomes) คือมีการบริหารจัดการให้สมดุลด้าน คือด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ และ 4. มีภูมิคุ้มกัน (Self Immunity) มีการสร้างระบบภูมิคุ้มกันในองค์กร เมื่อเจอวิกฤติจะผ่านไปได้อย่างประสบความสำเร็จ หรืออาจไม่ได้รับผลจากวิกฤตินั้นเลย ขณะเดียวกันหลักสูตรนี้ยังครอบคลุมไปถึงการส่งเสริมการบริหารจัดการองค์กร ภายใต้แนวคิดธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างยั่งยืนด้วย
ขณะที่ ศ.ดร.ฟิลิป ฮาลิงเจอร์ ศาสตรเมธาจารย์มั่นพัฒนา (TSDF Chair Professor of Leadership) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยด้านภาวะผู้นำอันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน พบว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของไทยมีส่วนคล้ายคลึงกับการสร้างภาวะผู้นำในระดับสากล แม้ว่าหลักการหรือคำนิยามในบางส่วนจะไม่ตรงกันทีเดียว แต่ในแง่ของแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนนั้น ถือว่ามีเป้าประสงค์และจุดมุ่งหมายในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศึกษารายละเอียดในเชิงลึก ยิ่งทำให้มั่นใจว่าสามารถประยุกต์ศาสตร์ทั้งสองพัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตรการศึกษา ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นระบบและรูปธรรม โดยองค์ความรู้ไม่เพียงจำกัดแค่ด้านการศึกษาเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงมิติต่างๆ ทั้งในด้านการบริหารองค์กรธุรกิจ การบริหารจัดการบ้านเมือง และการบริหารจัดการชุมชน จึงเชื่อมั่นได้ว่าผู้ที่เข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้จะมีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน อันหมายรวมถึงการส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญหาท้องถิ่นไปสู่คนรุ่นใหม่ด้วย ไม่เพียงเท่านั้นในขณะเดียวกันการขยายผลเนื้อหาหลักสูตรนี้ไปสู่สากล จะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้สังคมโลกอีกด้วย
สำหรับผู้สนใจหลักสูตรปริญญาเอก “สาขาวิชาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน” และต้องการค้นคว้าความรู้ด้านการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 02-206-2000 หรือคลิก www.cmmu.mahidol.ac.th/phdinsl