อ้วนแล้วลด ลดแล้วอ้วน...หยุดวงจรทรมาน
นิวทริไลท์แนะนำลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี...ลาขาดกันที “โยโย่”!!
“โยโย่เอฟเฟกต์” (Yoyo Effect) กลายเป็นปัญหาหนักใจของหลายๆ คนที่พยายามลดน้ำหนัก รีดหุ่น!! เพราะลดแล้วก็กลับมาอ้วนอีก ไม่ผอมอย่างถาวร เป็นเพราะเหตุใด? ความจริงแล้วมี 3 ปัญหาหลักที่ทำให้การลดน้ำหนักไม่สำเร็จ สถาบันสุขภาพนิวทริไลท์ (Nutrilite Health Institute) ชวนมาทำความเข้าใจกับปัญหา “โยโย่เอฟเฟกต์” กับ นพ. สมบูรณ์ รุ่งพรชัย แพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ และเวชศาสตร์การกีฬา เพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่และเตรียมพร้อมสู่การลดน้ำหนักที่ประสบความสำเร็จกันดีกว่า
“โยโย่เอฟเฟกต์ คือภาวะที่น้ำหนักตัวเด้งขึ้นๆ ลงๆ ส่วนใหญ่จบลงด้วยน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจนมากกว่าก่อนเริ่มลด! หรือบางคนอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องแม้จะควบคุมอาหารหรือออกกำลังกาย ก็ยังไม่สามารถควบคุมน้ำหนักตัวเองได้ ลักษณะเหมือนกับลูกดิ่ง โยโย่(1)”
“สาเหตุหลักของโยโย่เอฟเฟกต์ คือพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง การออกกำลังกายที่ไม่ถูกต้อง และการใช้ยาลดความอ้วน โดยเฉพาะโปรแกรมลดน้ำหนักที่ใช้การอดอาหารหรือควบคุมอาหารจนขาดพลังงานเข้าสู่ร่างกายอย่างเพียงพอ ร่างกายจึงขาดความสมดุลในการเผาผลาญและการเก็บพลังงาน ทำให้สูญเสียความสามารถในการเผาผลาญของร่างกาย เมื่อกลับมารับประทานตามเดิมจึงกลับมาอ้วนตามเดิม หรืออ้วนกว่าเดิมเป็นวงจรไม่จบ! สำหรับผู้ที่อายุยังน้อยและมีร่างกายแข็งแรง อาจไม่รู้สึกโยโย่ในการลดน้ำหนักครั้งแรก แต่หากยังฝืนลดน้ำหนักด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องต่อไป ก็จะรู้สึกได้ว่าการลดน้ำหนักยากขึ้นเรื่อยๆ และจบลงด้วยภาวะน้ำหนักตัวโยโย่ในที่สุด”
“การอดอาหารจะทำให้สารอาหารและพลังงานที่เข้าสู่ร่างกายลดลงมากเกินไป ทำให้ร่างกายค่อยๆ สูญเสียการเผาผลาญอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้โปรแกรมที่ไม่ต้องออกกำลังกาย บวกกับความเครียดจากความหิว จะยิ่งทำให้ร่างกายสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและส่งผลร้ายต่ออัตราการเผาผลาญ รวมทั้งการตัดสินใจลดน้ำหนักด้วยยาลดน้ำหนัก โดยไม่สนใจที่จะควบคุมอาหารหรือออกกำลังกายให้ถูกต้อง ยังเป็นตัวเร่งให้ภาวะน้ำหนักตัวโยโย่เกิดได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย”
ผลกระทบของโยโย่ อันตรายกว่าที่คิด!
“เมื่อเกิดภาวะน้ำหนักตัวโยโย่ หมายความถึง ร่างกายกำลังเผชิญกับภาวะไขมันเกินร่วมกับภาวะมวลกล้ามเนื้อลดลง และระบบการเผาผลาญในร่างกายมีความเสียหายอย่างรุนแรง เรียกว่า เสียสุขภาพมากกว่าตอนที่น้ำหนักเกินเพียงอย่างเดียวเสียอีก และยังเป็นบ่อเกิดของโรคไขมันอุดตันในหลอดเลือด ไขมันพอกตับ โรคเบาหวาน และที่สำคัญที่สุดคือ การฟื้นฟูสุขภาพร่างกายให้กลับมาดังเดิมจะทำได้ยาก และใช้เวลานานกว่าการลดน้ำหนักอย่างถูกต้อง หรือหลายคนไม่สามารถมีสุขภาพฟื้นกลับคืนได้อีกเลย(2)”
6 กฎเหล็กสำคัญ เพื่อการลดน้ำหนักให้สำเร็จอย่างยั่งยืน
1. รับประทานอาหารให้ได้แคลอรีและสารอาหารเพียงพอกับการเผาผลาญพื้นฐานของร่างกาย
2. ใช้โปรแกรมอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนักที่มีสารอาหารครบถ้วน เพียงควบคุมแคลอรีเท่านั้น
3. หมั่นรับประทานอาหารที่มีวิตามิน เกลือแร่ และไฟโตนิวเทรียนท์
4. วางแผนการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
5. มีช่วงพักลดน้ำหนักเป็นระยะๆ เมื่อลดน้ำหนักอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ตึงเครียดเกินไป
6. หลีกเลี่ยงการลดน้ำหนักมากเกินไป แต่ละครั้งไม่ควรลดเกิน 10% ของน้ำหนักตัวเริ่มต้น
สถาบันสุขภาพนิวทริไลท์ ขอแนะนำ 4 เคล็ดลับเรื่องการเลือกรับประทานอาหารในช่วงลดน้ำหนักเพื่อไม่เกิดโยโย่
“โปรตีน สำคัญมาก! เพราะช่วยให้อิ่มท้องนาน ไม่กินจุบจิบ ควรเลือกโปรตีนจากสัตว์ที่มีไขมันแฝงน้อยและโปรตีนจากพืชอย่างสมดุลจะช่วยลดน้ำหนักได้ แหล่งโปรตีนเหล่านี้ เช่น เต้าหู้ น้ำนมถั่วเหลือง ถั่วเหลือง นม เนื้อไก่ และเนื้อปลา นอกจากนี้ หากเรารับประทานโปรตีนในมื้อเช้ายังมีข้อดีคือช่วยให้สมองแจ่มใส มีสมาธิในการเรียนและทำงานมากขึ้น เพราะร่างกายจะสร้างสารทริปโตเฟนช่วยให้สมองกระปรี้กระเปร่า
ข้าวกล้องและขนมปังโฮลวีทแหล่งพลังงานชั้นเยี่ยม เพราะแป้งในข้าวกล้องถือเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (complex carbohydrate) ที่ร่างกายจะค่อยๆ ย่อยและดูดซึมอย่างช้าๆ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับสม่ำเสมอ ช่วยรักษาน้ำหนักตัวให้ไม่อ้วน ในขณะที่แป้งในข้าวขาวถือเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว (simple carbohydrate) ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างเร็ว ไม่สมดุลกับระดับอินซูลิน ทำให้น้ำตาลเหลือในกระแสเลือดมาก ร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมัน เป็นสาเหตุที่ทำให้อ้วนง่าย
ผักใบเขียวช่วยดีท็อกซ์ ในที่นี้หมายถึงผักใบเขียวที่ต้องออกแรงเคี้ยว และผลไม้ที่ไม่หวานจัด ซึ่งผักผลไม้มีประโยชน์ต่อการลดน้ำหนัก เพราะมีใยอาหารถึง 2 ประเภทคือ 1. ใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ ช่วยเพิ่มมวลของกากอาหาร กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ได้แก่ ข้าวโอ๊ต ถั่ว ถั่วเหลือง ข้าวบาร์เลย์ ธัญพืชต่างๆ 2. ใยอาหารชนิดละลายน้ำ มีคุณสมบัติช่วยดูดซับน้ำตาลและไขมันส่วนเกินในระบบลำไส้ เหมาะสำหรับคนที่อยู่ระหว่างควบคุมน้ำตาล ได้แก่ แอปเปิ้ล ข้าวโพด แครอท รำข้าวสาลี โดยควรรับประทานผักผลไม้ให้ได้ 25-30 กรัมต่อวัน เพื่อเป็นการดีท็อกซ์ตามธรรมชาติ
ไขมัน ใช่ว่าเป็นมารร้ายเสมอไป เพราะยังมีไขมันชั้นดีที่เราควรเลือกรับประทาน เช่น ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ซึ่งจะช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-C) ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL-C) ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ แหล่งของไขมันที่ดี เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว ถั่ว อัลมอนด์ เป็นต้น
รู้เคล็ดลับดีๆ แบบนี้แล้ว คราวนี้ก็ได้ผอมแบบสุขภาพดีกันถ้วนหน้า
ข้อมูลอ้างอิง
1. Brownell, Kelly D.; Greenwood, M.R.C.; Stellar, Eliot; Shrager, E. Eileen (October 1986). "The effects of repeated cycles of weight loss and regain in rats". Physiology & Behavior. 38 (4): 459–64.
2. Mehta T, Smith DL Jr, Muhammad J, Casazza K (November 2014). "Impact of weight cycling on risk of morbidity and mortality". Obesity Reviews. 15 (11): 870–881.