สมาคมประกันวินาศภัยไทย รวมพลังภาคธุรกิจประกันวินาศภัย

ฉลองครบรอบ 50 ปี มอบ 5 ล้านบาทตอบแทนสังคม

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ฉลองครบรอบ 50 ปี รวมพลังภาคธุรกิจประกันวินาศภัย จัด “โครงการ Power of Insurance ประกันภัย รวมพลังเพื่อสังคม” ระดมสมาชิกร่วมสมทบทุนบริจาคให้ศิริราชมูลนิธิ และมูลนิธิชัยพัฒนา รวม 5,000,000 บาท พร้อมแถลงปรับตัวเลขเติบโตธุรกิจ ปี 2560 ขึ้นเป็น 3.3-3.7% เบี้ยแตะ 218,800-219,650 ล้านบาท หลังสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้น

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี สมาคมประกันวินาศภัยไทย ในเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้ ถือเป็นโอกาสอันดีในการรวมพลังของภาคธุรกิจประกันวินาศภัย ในการร่วมกันทำความดีเพื่อประโยชน์ตอบแทนคืนสู่สังคม และเพื่อให้บริษัทสมาชิกและผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยได้ร่วมรำลึกถึงความมั่นคง และความเป็นปึกแผ่นของสมาคมประกันวินาศภัยไทย คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ จึงมีมติให้จัดโครงการ “Power of Insurance ประกันภัย รวมพลังเพื่อสังคม” ขึ้น เพื่อให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในการสมทบทุนบริจาคให้แก่ศิริราชมูลนิธิ และมูลนิธิชัยพัฒนา รวมทั้งสิ้น 5,000,000 บาท

โครงการ “Power of Insurance ประกันภัย รวมพลังเพื่อสังคม” นี้ สมาคมฯ ได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันภัยที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมสมทบทุนบริจาคผ่านกิจกรรมที่สมาคมฯ จัดขึ้น ประกอบด้วย งานเลี้ยงครบรอบ 50 ปี สมาคมประกันวินาศภัยไทย ภายใต้ชื่องาน “50th Anniversary The Journey of TGIA” ซึ่งจะจัดขึ้น ในวันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2560 เวลา 17.00 น. ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก วิภาวดี และการแข่งขันกอล์ฟการกุศล เนื่องในโอกาส ครบรอบ 50 ปี สมาคมประกันวินาศภัยไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2560 ณ สนามริเวอร์เดล กอล์ฟ แอนด์ คันทรีคลับ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งรายได้จากการจัดงานทั้งหมดจะนำไปบริจาคโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น การจัดงานในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการรวมพลังความร่วมมือกันของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยไทยครั้งสำคัญ ที่ได้แสดงถึงพลังความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกสมาคมฯ ในการช่วยเหลือสังคมและร่วมกันพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยไทย ให้เจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้า มั่นคงเคียงคู่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติสืบไป

นอกจากนี้ นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้เปิดเผยถึง แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2560 ว่า จากการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเป็นร้อยละ 3.5-4.0 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การลงทุนภาครัฐ-ภาคเอกชนที่มีแนวโน้มการขยายตัวมากขึ้น และการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ส่งผลให้ธุรกิจประกันวินาศภัยมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยไทย ในรอบ 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม 2560) ที่ผ่านมา มีมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จำนวน 143,261 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.79% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับภาพรวมเต็มปีทั้ง 3 ปีก่อนหน้านี้ ที่เพิ่มขึ้นเพียง 1.13% ในปี 2557 1.9% ในปี 2558 และ 1.23% ในปี 2559 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของ การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ 3.77% การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล 5.07% และการประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด (IARs) ตามลำดับ โดยภาพรวมของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดใน 8 เดือนแรก มีการขยายตัว ได้ดี สูงถึง 4.55% เมื่อเทียบกับทั้งปี 2559 ที่ขยายตัวเพียง 1.38% โดยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จำนวน 48,975 ล้านบาท ประกอบด้วย การประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด 3.5% ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก 8.76% อุบัติเหตุส่วนบุคคล 5.07% สุขภาพ 7.51% และอากาศยาน พืชผลและอื่น ๆ 1.43% ขณะที่การประกันอัคคีภัย มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จำนวน 6,980 ล้านบาท หดตัวลง 0.5%

ในปี 2560 ปัจจัยจากการส่งเสริมของภาครัฐที่มีผลต่อธุรกิจประกันวินาศภัย คือ การส่งเสริมให้ประชาชนสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยเป็นเบี้ยประกันสุขภาพที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป จากมาตรการภาษีดังกล่าว นอกจากจะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้ประชาชนทำประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้นแล้ว ผู้ที่ซื้อประกันสุขภาพจะได้มีหลักประกันสำหรับดูแลตนเองในยามเจ็บป่วย และยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐด้านค่ารักษาพยาบาลของประชาชนได้อีกทางหนึ่งด้วย

ด้านผู้ประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ควรมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการดำเนินงาน การพัฒนาและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้นครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย พัฒนาระบบการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Insurance) เพื่อลดขั้นตอนและความยุ่งยากและตอบโจทย์สังคมในยุคดิจิทัล บริษัทประกันภัยต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง รวมทั้งต้องปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ ที่สำคัญต้องคำนึงถึงการบริหารต้นทุน ค่าใช้จ่ายและราคาเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม และให้ความสำคัญเรื่องของการบริการลูกค้ามากกว่าการแข่งขันด้านราคา มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการให้บริการ และการนำดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาระบบประกันภัยทั้งการรับประกันภัยและการเคลมให้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ในทุกช่วงวัย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัย และส่งสริมให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนอีกด้วย

ทั้งนี้ จากสถานการณ์เศรษฐกิจและปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยข้างต้น สมาคมฯ จึงได้ปรับอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 3.3-3.7% ซึ่งสูงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี โดยจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงอยู่ระหว่าง 218,800-219,650 ล้านบาท และคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2561 ว่า น่าจะสามารถเติบโตได้ตามการขยายตัวของ GDP โดยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 226,000-228,000 ล้านบาท เติบโต 3.5-4.0% ตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุน และการส่งเสริมการประกันภัยของภาครัฐ ในการนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงนั่นเอง

Visitors: 1,330,829