“ขายตรง”ถึงเวลายกระดับมาตรฐานวิชาชีพ
ส.พัฒนาการขายตรงไทยร่วมภาครัฐติวเข้ม
สมาคมพัฒนาการขายตรงไทย ผนึกความร่วมมือสคบ.และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จัดอบรมมาตรฐานวิชาชีพขายตรง ชี้เป็นอาชีพสร้างงานสร้างรายได้ไม่เกี่ยวข้องธุรกิจแชร์ลูกโซ่ มั่นใจจัดอบรมมาตรฐานวิชาชีพขายตรง ช่วยยกระดับอุตสาหรรมขายตรงมืออาชีพ
ดร.สมชาย หัชลีฬหา นายกสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย (Thai Direct Selling Development Association : TSDA ) กล่าวว่า ล่าสุดทางสมาคมฯได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) จัดอบรมมาตรฐานวิชาชีพขายตรงครั้งที่ 7 ขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นการจัดอบรมต่อเนื่อง หลังจากสมาคมได้ดำเนินการจัดงานอบรมมาตรฐานวิชาชีพมาแล้ว 6 ครั้ง อบรมนักขายตรงไปแล้วกว่า 6,000 คน งานนี้จัดขึ้นเพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพโดยปีนี้ได้เชิญสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์การมหาชน) มาร่วมหารือในเรื่องการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพร่วมกับสคบ.ด้วย เพื่อยกระดับคุณภาพวิชาชีพขายตรงให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ
เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมขายตรง หลายคนรับรู้ว่าที่ผ่านมาเป็นเรื่องของการสร้างโอกาสสร้างงานสร้างอาชีพ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าการขายตรงไม่ได้เป็นอาชีพที่จะร่ำรวยได้ทุกคน โดยหลักการแล้วการสร้างเครือข่ายใน 100 คนหรือ 200 คนอาจมีเพียง 10 คนที่มีโอกาสสำเร็จเป็นกลุ่มที่มีรายได้เป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวได้มีราว 10% เท่านั้นที่เหลือเป็นผู้บริโภคซึ่งมีผลตอบแทนคือคุณค่าจากการได้ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพดีไปใช้
ในวันนี้ด้วยแผนการตลาดที่มีอยู่ ทำให้คนที่มีรายได้บางส่วนพิสูจน์ได้จริงว่ามีรายได้และรวยจริง แต่เป็นจุดที่คนไม่เข้าใจและคิดว่าทุกคนจะรวยได้ จึงคาดหวังสูงว่าจะรวยได้เหมือนกันทั้งที่ในความเป็นจริงมีคนที่จะรวยจากอาชีพนี้ได้มีราว 10% หรือประมาณ 10 คนจาก 100 คนเท่านั้น ซึ่งหากเทียบกับการถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ซึ่งอาจเป็น 1 ในล้าน ขายตรงย่อมมีโอกาสรวยได้มากกว่าจึงมีคนนำเอาจุดนี้ไปหากิน มีคนเอารูปแบบการขายตรงไปโฆษณาชวนเชื่อว่าทำแล้วจะรวยได้ง่าย เพื่อชักชวนคนเข้ามาทำธุรกิจ แต่ในความเป็นจริงขายตรงไม่ได้รวยกันทุกคน
ดังนั้น จึงมีปัญหาตามมาเรื่องโฆษณาขายตรงที่มักโฆษณาเกินจริง มีการชักชวนให้เกิดความคาดหวังที่เป็นไปไม่ได้ พอผิดหวังก็บอกว่าเป็นการหลอกกัน ซึ่งที่จริงเป็นการหลอกให้เชื่อว่าจะรวยได้ง่ายเกินความเป็นจริงไป การขายตรงทำให้คนเดินเข้ามา ทำให้มีการชักชวนผู้บริโภคเข้ามาเป็นผู้ขายอิสระเอาสินค้าไปกระจาย เมื่อมีคนเข้ามาเป็นทีมงานเยอะ มีสินค้ากระจายออกไปมีการบริโภคซ้ำก็มียอดขายมากเป็นที่มาของคนมีรายได้สูงเพราะมีเครือข่ายเยอะ
ย้ำขายตรงไม่เกี่ยว“แชร์ลูกโซ่”
การก้าวเข้ามาด้วยการซื้อสินค้านำไปขายต่อ ก็จะมีรายได้จากการขายจากส่วนต่างราคาเมื่อมีทีมงานเยอะก็นำสินค้าออกไปขายได้เยอะก็มีรายได้สูงตามมา มีการสร้างทีมงานเครือข่ายก็ทำให้มี Passive Income หรือมีรายได้เพิ่มเข้ามาต่อเนื่องโดยไม่ต้องลงมือทำเองเป็นที่มาของรายได้ ทั้งหมดนี้เรียกว่าขายตรงโดยเนื้อแท้ แต่ก็มีคนนำโอกาสนี้ไปโฆษณาเกินจริงว่าทุกคนที่เข้ามาจะมีรายได้แบบนี้จริง นานเข้าก็มีการกระทำที่เรียกว่าแผนการตลาดที่ปั่นยอดขายซึ่งจ่ายจริงไม่ได้ และมีคนหลงเชื่อก็เป็นที่มาของแชร์ลูกโซ่
ดร.สมชาย กล่าวว่า แผนการตลาดก็คือแผนการทำตลาดขายตรง ส่วนแชร์ลูกโซก็คือแชร์ลูกโซ่เป็นคนละส่วนกัน การขายตรงต้องมีแผนการตลาดที่ใช้ได้จริงสามารถขึ้นทะเบียนกับสคบ.ได้ แต่ถ้าแผนการตลาดแบบปั่นยอดขาย เมื่อนำไปจดทะเบียนกับสคบ.ก็จะไม่ผ่าน จดทะเบียนไม่ ผ่านก็เป็นแชร์ลูกโซ่เพราะฉนั้น ขายตรงกับแชร์ลูกโซ่ไม่ใช่เรืองเดียวกัน
ส่วนขายตรงที่ทำแล้วหลอกลวง เช่น สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนต่างๆ เมื่อผู้ขายทำได้แต่บริษัทไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้เรียกว่าขายตรงที่ทำผิดเงื่อนไข ซึ่งกรณีนี้รัฐมีการกำหนดบทลงโทษ สำหรับขายตรงที่ทำผิดเงื่อนไข ต้องถูกปรับและต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายตามที่มีการร้องเรียน ซึ่งปัจจุบันมีการควบคุมอยู่ พบปัญหาน้อยมาก มีการร้องเรียนเรื่องคุณภาพสินค้าบ้างแต่ก็น้อย ปัญหาเรื่องขายตรงอันที่จริงร้องเรียนไม่เยอะ แต่มีคนนำไปผูกกับแชร์ลูกโซ่ทำให้ดูเลวร้าย ทั้งที่จริงแล้วไม่เกี่ยวข้องกันเป็นเพียงตลาดสับสนระหว่างขายตรงและแชร์ลูกโซ่เท่านั้น
เดินหน้าจัดอบรมมาตรฐานวิชาชีพ
ด้วยเหตุนี้ทางสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย จึงมีแนวคิดร่วมมือกับภาครัฐในการทำมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งขณะนี้ได้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเชิญสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์การมหาชน) มาร่วมหารือในเรื่องการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพโดยร่วมกับสคบ.ด้วย ซึ่งจะมีการจัดงานสัมมนาวิชาชีพครั้งที่ 7 ซึ่งหากรวมผู้ที่จะมาอบรมแล้วมากถือว่ามีกว่า 7,000 คน สะท้อนความมุ่งมั่นของสมาคมที่จะสร้างมาตรฐานวิชาชีพที่ถูกต้องทำให้สังคมยอมรับและรับรู้ว่าข้อดีของขายตรงคืออะไร ขายตรงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ขายตรงมีข้อเสียอะไรบ้าง ขายตรงที่แท้จริงมีประโยชน์มากแค่ไหน
“ผมก็ยังยืนยันว่าขายตรงเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ เพราะว่าแน่นอนถ้ามีบริษัทนำสินค้ามาขายก็ต้องกระจายสู่ผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคก็เลือกเองว่าสินค้านั้นถูกหรือแพงอย่างไร คุ้มราคาที่จ่ายเงินหรือไม่ ซึ่งขายตรงที่จะอยู่ได้ก็ต้องตั้งราคาที่สมเหตุสมผล ไม่งั้นลูกค้าก็คงไม่ซื้อดังนั้นสินค้าต้องคุ้มค่ากับเงินที่ลูกค้าจ่าย”
ดังนั้นขายตรงก็คือขายตรง ส่วนแชร์ลูกโซ่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าไม่สมเหตุสมผลตั้งแต่แผนธุรกิจ สินค้าไม่รู้คืออะไรและเป็นสินค้าที่คนไม่ต้องการ ซ้ำราคาสูงเกินจริงไม่คุ้มมูลค่า ธุรกิจแบบนี้อาจมีตัวอย่างความสำเร็จของคนที่เข้าไปทำช่วงต้นๆ เมื่อมีผู้ทำได้มากขึ้นบริษัทต้องจ่ายเงินเยอะขึ้นอาจมีการปฏิเสธการจ่ายเงิน และ ปิดบริษัทหนี ประเด็นแบบนี้คือแชร์ลูกโซ่เป็นส่วนใหญ่ไม่ใช่บริษัทขายตรง เพราะขายตรงส่วนใหญ่ไม่กล้าทำผิดเนื่องจากต้องการอยู่ในตลาดอย่างยาวนาน
“วันนี้สมาคมฯ ก็อยากทำให้ทุกคนรับรู้ว่าธุรกิจนี้เป็นอย่างไร ขายตรงเป็นอย่างไรแชร์ลูกโซ่เป็นอย่างไร และข้อสำคัญมาตรฐานขายตรง มีการจัดอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนนักขายอิสระ สามารถยืนยันตัวตนผู้ขายว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ และยืนยันว่ามีตัวตนจริงมีความรับผิดชอบ ซื่งการจะทำอย่างนี้ก็ต้องมาอบรมก่อน” ดร.สมชาย ย้ำและว่า การอบรมนี้จะมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมด้วยไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.), สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.), กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.), และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) โดยผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรและบัตรประจำตัวผู้เข้าอบรม ซึ่งออกโดยสมาคมฯร่วมกับสคบ.
ในส่วนภาคเอกชนสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย จะให้ข้อมูลให้ความรู้ว่าทำธุรกิจอย่างไรจะประสบความสำเร็จ ต้องมีรากฐานจากอะไรการขายตรงที่ดีต้องทำอย่างไร การให้ใบรับรองจากสมาคมฯและภาครัฐก็ทำให้มีความมั่นใจและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ
ด้านบริษัทเองก็ต้องขึ้นทะเบียนกับสคบ.ต้องมีใบอนุญาตขายตรง และได้การรับรองจากหน่วยงานภาครัฐอย่างถูกต้อง มีมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง GMP, ISO ต่างๆ มีหลายปัจจัยที่ต้องเรียนรู้ ซึ่งงานที่จะจัดสัมมนาวันที่ 19 ส.ค.2560 ก็จะให้ความรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ให้ข้อมูลการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องการทำที่ประสบความสำเร็จ
4 สมาคมขายตรงมีบริษัทสมาชิกต่ำกว่า 100
ปัจจุบันสมาคมฯมีบทบาทการให้ข้อมูลพื้นฐาน การทำธุรกิจ ปัจจัยความความสำเร็จต้องใช้อะไร ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิก 10 บริษัทมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ร่วมมือกันพัฒนาวงการขายตรงจัดประชุมกันทุก 2 เดือน มีการเปิดรับฟังข้อร้องเรียนและร่วมมือกับสมาคมขายตรงอื่นด้วย เป้าหมายของสมาคมฯต้องการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพขายตรง เป็นความร่วมมือภาครัฐ สมาคมฯ และสถาบันการศึกษา ซึ่งทางสมาคมต้องการผลักดันวิชาชีพให้มีมาตรฐานต่อเนื่องในอนาคต
ภาพรวมธุรกิจขายตรงปัจจุบันมีตัวแทนขายเกิน 10 ล้านคนมีบริษัทขายตรงกว่า 900 บริษัททั้งบริษัทขายตรงและการตลาดแบบตรง หรือขายผ่านสื่อออนไลน์ ปัจจุบันสมาคมด้านขายตรงมี 4 สมาคมแต่มีบริษัทที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกรวมกันยังไม่ถึง 100 บริษัท ผมอยากให้บริษัทขายตรงต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกร่วมกันพัฒนาธุรกิจขายตรงให้มีมาตรฐานที่ดีและเป็นที่ยอมรับของสังคมมากยิ่งขึ้น