กคช.เดินหน้าศึกษาแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย
ตามแนวรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง
การเคหะแห่งชาติเร่งศึกษาแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง เพื่อวางผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่นำร่องบริเวณชุมชนร่มเกล้าให้เป็น “ศูนย์เศรษฐกิจเมืองร่มเกล้า”เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจนวัตกรรมพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าวว่า การเคหะแห่งชาติมอบหมายให้บริษัท พิพิธภัณฑ์เอเชีย จำกัด ดำเนินงานวิจัย “โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง” ซึ่งได้คัดเลือกพื้นที่ของการเคหะแห่งชาติบริเวณรอบสถานีรถไฟลาดกระบังบริเวณถนนกรุงเทพกรีฑา–ร่มเกล้าเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อจัดทำผังแม่บทภายใต้ชื่อ “ศูนย์เศรษฐกิจเมืองร่มเกล้า” โดยมุ่งพัฒนาให้เป็นเมืองของคนรุ่นใหม่ เมืองธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และเมืองที่อยู่อาศัยที่มีความสมบูรณ์ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานการค้าระหว่างประเทศ การค้าปลีก การประชุม การมีพื้นที่ Working Space การจัดแสดงสินค้าและการบริการ รวมถึงมีระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ศูนย์เศรษฐกิจกรุงเทพมหานคร และศูนย์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ทั้งนี้ ได้นำเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth Principles) มาใช้ในการออกแบบยุทธศาสตร์เศรษฐกิจบทบาทของพื้นที่ รวมถึงระบบการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และระบบการเชื่อมโยงทางกายภาพสำหรับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่โดยใช้เกณฑ์ย่อยในการออกแบบโครงการซึ่งได้แก่ เกณฑ์การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development Principles) แนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบท่าอากาศยาน (Airport-Oriented Development Concept)เกณฑ์ความเป็นผู้นำการออกแบบพลังงานและสภาพแวดล้อมระดับย่าน (LEED-ND) และกฎหมายผังเมือง(Form-Based Codes) รวมทั้งการใช้แนวคิดในการออกแบบการบริหารจัดการทางการเงินที่ให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนกิจการของภาครัฐ (PPP) พ.ศ.2556 ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการลงทุนโครงการศูนย์เศรษฐกิจ โดยจะใช้กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ประเภทกองทรัพย์สินที่เรียก REITS หรือ Real Estate Investment Trust เป็นเครื่องมือระดมทุนเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และการบริหารจัดการโครงการ เพื่อสร้างมูลค่าทรัพย์สินแก่การเคหะแห่งชาติในระยะยาวและลดภาระการลงทุนทางตรง พร้อมมุ่งสู่เมืองที่รักษาสิ่งแวดล้อมโดยลดการปล่อยมลพิษและลดการใช้พลังงานด้วยการออกแบบอาคารขนาดใหญ่ที่ต้องได้รับมาตรฐานอาคารเขียว การออกแบบให้ถนนมีแนวต้นไม่ใหญ่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 รวมถึงการออกแบบสวนสาธารณะขนาดต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึง เป็นต้นโดยจะนำแผนแม่บทที่ได้ไปพัฒนาโครงการในรูปแบบmixed- use ของการเคหะแห่งชาติต่อไปในอนาคต