กรุงเทพประกันชีวิต เผยผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2563 เบี้ยประกันรวม 6,839 ล้านบาท

ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุงเทพ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในไตรมาสที่ 2/2563 กรุงเทพประกันชีวิตมีเบี้ยประกันรับปีแรกจำนวน 1,073 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 จากไตรมาส 2 ปี 2562 โดยเป็นผลจากการลดลงของช่องทางธนาคาร ในขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันรับปีแรกในช่องทางช่องทางตัวแทนและช่องทางอื่นๆ โดยมีการเติบโตของเบี้ยประกันรับปีแรกร้อยละ 13 ในช่องทางตัวแทน อย่างไรก็ตามในภาพรวมเบี้ยประกันรวมของไตรมาสที่ 2/2563 มีจำนวน 6,839 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 เป็นผลของการลดลงของเบี้ยประกันรับปีแรกในช่องทางธนาคาร”

บริษัทมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 จำนวน 342,963 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ที่ร้อยละ 3 โดย สินทรัพย์ลงทุนมีสัดส่วนสูงที่สุดคือร้อยละ 93 ในไตรมาสที่ 2/2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 631 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 38 จากกำไรสุทธิของไตรมาส 2 ปี 2562 โดยสาเหตุหลักเนื่องมาจากในไตรมาสนี้ บริษัทฯ มีการปรับปรุงนโยบายการตั้งสำรองค่าเผื่อความผันผวน (PAD: Provision for Adverse Deviation) เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีค่าใช้จ่ายเงินสำรองประกันชีวิตเพิ่มขึ้นจากปกติ ทางด้านความมั่นคงของฐานะทางการเงิน บริษัทมีระดับความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio–CAR) ณ ไตรมาส 2/2563 ที่ระดับร้อยละ 275 โดยมาจากการคำนวณตามหลักเกณฑ์การคำนวณเงินกองทุนของบริษัทประกันชีวิต (RBC II) ซึ่งเป็นการปรับปรุงให้มีความเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม

ในไตรมาสที่ 2/2563 นี้บริษัททำการตลาดในช่องทางจำหน่ายแต่ละช่องทาง โดยเฉพาะในช่องทางตัวแทนจำหน่าย ปัจจุบันบริษัทฯ มีแบบประกันด้านสุขภาพที่ครอบคลุมความต้องการต่างๆ รวมถึงการออกแบบประกันใหม่ที่คุ้มครองด้านโรคร้ายแรง บริษัทยังได้พัฒนาเครื่องมือที่ช่วยในการขายและการส่งเสริมการขาย จึงทำให้ตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทยังคงสามารถปฏิบัติงานได้แม้จะได้รับผลกระทบของ COVID-19

บริษัทฯ ยังได้มอบความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) ให้กับผู้เอาประกันภัยของบริษัทกรุงเทพประกันชีวิตที่มีกรมธรรม์ที่ยังมีผลบังคับอยู่ โดยจะได้รับผลประโยชน์พิเศษเพิ่มเติม ค่าชดเชยรายวันเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยในในห้องผู้ป่วยหนัก (ไอ.ซี.ยู.) เนื่องจากไวรัสโคโรน่า วันละ 3,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 15 วัน โดยไม่คิดเบี้ยประกันภัย และไม่ต้องทำการลงทะเบียนเพิ่มเติม ในเดือนมิถุนายน 2563 ด้วย ทั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาความกังวลของลูกค้าและช่วยเพิ่มความคุ้มครองให้ครอบคลุมมากขึ้น บริษัทยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ด้านแผนการลงทุนคู่ความคุ้มครองผ่านที่ปรึกษาการเงินของบริษัท เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านการเงินให้ประชาชนทุกกลุ่ม


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 1,330,766