8 หน่วยงานรัฐร่วมบูรณาการข้อมูลท่องเที่ยว

อพท. ชูข้อมูลดัชนีท่องเที่ยววัดรายได้และความสุขของชุมชน

ผนึกกำลัง 8 หน่วยงานรัฐบูรณาการข้อมูลท่องเที่ยวร่วมกัน อพท. ส่งระบบสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ TIS ร่วมเชื่อมโยง ชู 5 ข้อมูลสำคัญ ทั้งพัฒนาและประเมินแหล่งท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวชุมชน และตัวชี้วัดรายได้และความอยู่ดีมีสุขของชุมชน ที่ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาโดย อพท.

พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. เป็น 1 ใน 8 หน่วยงานที่เข้าร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการบูรณาการข้อมูล เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการจัดทำฐานข้อมูลเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพื่อการบริหารจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งระบบ (Tourism Intelligence Center : TIC) ระยะที่ 2 โดย อพท. จะนำข้อมูลด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษ ที่ อพท. ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งอยู่ในระบบสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Tourism Information System) หรือ TIS ที่ อพท. ได้พัฒนาขึ้นมานานกว่า 5 ปี โดยมี 5 ข้อมูลหลัก ที่หน่วยงานอื่นจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ได้แก่ ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษรายประเภท ข้อมูลโครงการตามแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่น โลว์คาร์บอน ครีเอทีฟทัวริสซึ่ม ข้อมูลการประเมินศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษฯ ข้อมูลรายได้และข้อมูลการสำรวจระดับความอยู่ดีมีสุขของชุมชนในพื้นที่พิเศษ รวมถึงผลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยเพราะในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่พิเศษของ อพท. นั้น เป้าหมายสำคัญเพื่อให้เกิดเป็นชุมชนต้นแบบด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่หน่วยงานอื่นสามารถนำไปศึกษาและปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมและความพร้อมของทรัพยากรด้านต่างๆ ในพื้นที่ของตน

“ในการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการบูรณาการข้อมูล ของ 8 หน่วยงาน ซึ่งเน้นการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของภาครัฐ ถือเป็นมิติใหม่ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดในประเทศได้ริเริ่มดำเนินการมาก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการพยายามตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของรัฐบาลและคสช. ที่มุ่งหวังให้ภาครัฐของไทย เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับเพื่อปรับตัวให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลที่แท้จริงที่มีการบูรณาการข้อมูลภาครัฐและบริการที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อเป็นกลไกในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ ‘ประเทศไทย 4.0’

ทั้งนี้เมื่อทุกหน่วยงานนำข้อมูลมาบูรณาการร่วมกัน และมีการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่แล้ว ประโยชน์ที่ได้ก็จะตกอยู่กับประชาชน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคบริการขนาดใหญ่ มีภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากและหลากหลาย และมีการแข่งขันสูง จึงจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลสารสนเทศจำนวนมากที่มีมาตรฐาน ถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อที่ผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์การท่องเที่ยวได้รอบด้านและทันการณ์ รวมถึงสามารถกำหนดนโยบายเพื่อตัดสินใจในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และระบบการบริการด้านการท่องเที่ยวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเหมาะสมกับงบประมาณ

อพท. คาดหวังจะเห็นประโยชน์จากการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ได้เป็นช่องทางส่งผ่านองค์ความรู้ของโมเดลชุมชนต้นแบบด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไปยังหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจ ให้สามารถนำไปใช้เป็นตัวอย่าง เพื่อถ่ายทอดให้กับชุนชนอื่นๆ ในประเทศไทยได้ นอกจากนั้นแล้ว ความร่วมมือครั้งนี้จะส่งผลให้ อพท. สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของหน่วยงานต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ และดำเนินการวางแผนพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้ทันต่อพลวัตการท่องเที่ยว นำไปสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุขได้ในอนาคตอันใกล้นี้ พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวทิ้งท้าย

Visitors: 1,330,769