เคทีซีขึงเส้นทางใหม่ สร้าง New S Curve ทำกำไรนิวไฮปี 2565
Date: 13 มกราคม 2565 ,ข่าวการเงิน - ธนาคาร :- www.businessbiweekly.net
-------------
ปั้นแอปฯ MAAI By KTC รุกตลาดฉลองศักราชใหม่
ผนึกพันธมิตรเดินหน้าสินเชื่อมีหลักประกันเต็มตัว
เคทีซีพร้อมเดินเครื่อง หวังดันพอร์ตเกินแสนล้านบาท สร้างกำไรนิวไฮระลอกใหม่ หลังวิกฤตโควิด-19 ปักธงสองโมเดลธุรกิจขับเคลื่อนอนาคต (New S Curve) บนเส้นทางใหม่ (New Voyage) 1. “MAAI By KTC” ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ให้บริการด้านลอยัลตี้แพลทฟอร์มแบบครบวงจรแก่พันธมิตรธุรกิจ ในรูปแบบของโมบายแอปพลิเคชัน 2. “เคทีซี พี่เบิ้ม” ปรับเป้าสินเชื่อสิ้นปี 2565 ขึ้นเป็น 11,500 ล้านบาท โดยผนึกความร่วมมือผ่านเครือข่ายทั่วประเทศ “ธนาคารกรุงไทย” และกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง รุกธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันเต็มกำลัง รวมทั้งขยายฐานสมาชิกบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล สร้างสิทธิประโยชน์ทางการตลาดและออกผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจต่างๆ เพื่อให้สมาชิก-พันธมิตร-เคทีซีได้รับประโยชน์ร่วมกัน พร้อมสร้างเครือข่ายร้านค้าไปยังกลุ่มพรีเมี่ยมและไลฟ์สไตล์มากขึ้น ตอบโจทย์การใช้บัตรเครดิตที่ครอบคลุมทุกความต้องการของสมาชิก และขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอย่างรับผิดชอบ
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมีการเปิดประเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา ส่งผลให้เศรษฐกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีกับตลาดสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค และเป็นโอกาสที่จะผลักดันธุรกิจเคทีซีให้เติบโต และมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างสถิติใหม่ของการทำกำไรสูงสุดมากกว่า 6 พันล้านบาท กับพอร์ตสินเชื่อที่เกินแสนล้านบาท ด้วยสองโมเดลธุรกิจใหม่ที่เราตั้งใจสร้างขึ้นกับการออกเดินทางครั้งใหม่ เพื่อส่งความสุขเป็นของรับขวัญสมาชิก หลังผ่านความทุกข์จากวิกฤติโควิด-19 รวมทั้งการเดินหน้าธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เพื่อขยายฐานสมาชิกกลุ่มใหม่และดูแลคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ ตลอดจนคัดสรรสิทธิประโยชน์ที่ทรงคุณค่า ตอบสนองทุกความต้องการของสมาชิกกว่า 3.3 ล้านบัญชี”
“สองโมเดลธุรกิจที่จะเป็นเรือธงขับเคลื่อนธุรกิจเคทีซีให้สามารถสร้าง New S Curve และมีรายได้เติบโตอย่างยั่งยืน คือ แพลทฟอร์ม “MAAI BY KTC” ซึ่งเป็นการต่อยอดจากความแข็งแกร่งของเคทีซีในการทำระบบคะแนนสะสม และความเชี่ยวชาญด้านการตลาดในการบริหารคะแนน KTC FOREVER ที่ตอบโจทย์และครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์”
“MAAI BY KTC จึงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่จากเคทีซีที่ให้บริการกับพันธมิตรธุรกิจที่มีความต้องการใช้ลอยัลตี้แพลทฟอร์มแบบครบวงจร โดยมีโซลูชั่นส์ที่สำคัญ คือ 1. ระบบบริหารจัดการสมาชิก (Membership Management) 2. ระบบบริหารจัดการคะแนน (Point System Management) ซึ่งไม่ว่าเป็นคะแนนของพันธมิตรเอง หรือจะใช้คะแนน MAAI POINT ในการทำ Loyalty Program ก็ทำได้เช่นกัน โดยคะแนน MAAI POINT นี้ สามารถใช้เป็นคะแนนกลางในการแลกเปลี่ยนกับคะแนนอื่นๆ ในกลุ่มพันธมิตรบน MAAI Platform ได้ด้วย และ 3. ระบบบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ในรูปแบบคูปองอิเล็กทรอนิก (e-Coupon Management) เพื่อให้การแลกคะแนนมีความหลากหลาย ตรงใจกลุ่มลูกค้าสมาชิก ไม่ว่าจะแลกเป็นอีคูปอง (E-Coupon) หรือแลกสินค้าได้ที่ร้านค้าพันธมิตรทั่วไป ครอบคลุมทุกหมวดการใช้จ่าย อาทิ ร้านค้า โรงภาพยนตร์ ร้านอาหารและบริการเดลิเวอรี่ โดยจะเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 และในเดือนมกราคม 2565 นี้ จะเปิดให้พนักงานเคทีซีได้ทดลองใช้ในช่วงเริ่มต้นกับ 16 ร้านค้าและจะขยายพันธมิตรร้านค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่มาของคำว่า MAAI (มาย) มาจากคำว่า MAK MAAI (มากมาย) หมายถึงสิทธิประโยชน์ที่มากมาย กับร้านค้าพันธมิตรที่มากมาย และความสะดวกในการใช้ที่มากมาย อีกทั้งยังพ้องเสียงกับคำว่า Mine ที่ต้องการสื่อถึง สิทธิประโยชน์ที่เป็นของผู้ใช้และเพื่อผู้ใช้ (user) โดยสามารถดาวน์โหลดแอปฯ เพื่อใช้งานผ่าน Apple Store, Play Store และ Huawei Store”
“โมเดลธุรกิจถัดมาคือ สินเชื่อมีหลักประกัน “เคทีซี พี่เบิ้ม” ที่จากนี้ไปผู้บริโภคจะได้รู้จักและคุ้นเคยกับธุรกิจพี่เบิ้มมากขึ้น โดยเคทีซีจะเร่งขยายฐานสมาชิกต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้พอร์ตโตแบบก้าวกระโดดและบรรลุเป้าสินเชื่อที่ 11,500 ล้านบาทในปี 2565เน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่แบบเชิงรุก ผ่านบริการพี่เบิ้ม เดลิเวอรี่ โดยใช้ทีมขายของเคทีซีทั่วประเทศ ไปให้บริการสินเชื่อถึงบ้านของลูกค้า หรือสถานที่ที่ลูกค้าสะดวกด้วยความรวดเร็ว ผูกไปกับช่องทางของเครือข่ายธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศกว่า 900 สาขา และกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง (KTBL) 11 สาขา ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลัก และจะเน้นสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเปิดรับเป็นหลัก รวมทั้งสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครบทุกความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นบัตรกดเงินสด “เคทีซี พี่เบิ้ม” ซึ่งเป็นครั้งแรกของสินเชื่อทะเบียนรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ในรูปแบบของบัตรกดเงินสด ที่ลูกค้าสามารถรูด-โอน-กด-ผ่อน ผ่านบัตรได้ทันที ครอบคลุมถึงธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (Hire Purchase) ภายใต้ใบอนุญาตของกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง ซึ่งเคทีซีถือหุ้นอยู่ 75.05% ตลอดจนพัฒนากระบวนการทำงานด้วยหลักการของดิจิทัล ทวิน (Digital Twin) โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการสมัครและอนุมัติสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการมีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมุ่งเติมเต็มช่องว่างในตลาด ด้วยจุดแข็งที่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น ด้วยวงเงินใหญ่ที่ขยายถึง 1 ล้านบาท อนุมัติใน 2 ชั่วโมง พร้อมรับเงินทันที รับทุกอาชีพและเอกสารง่าย ไม่ยุ่งยาก เพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์ในการทำธุรกิจที่เปิดโอกาสและทางเลือกให้คนทำมาหากินที่ไม่ท้อทุกอาชีพ สามารถเข้าถึงสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ได้ไม่ยาก”
“ธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเคทีซีในปี 2565 จะมุ่งเน้นการเติบโตของพอร์ตลูกหนี้ที่มีคุณภาพดี ขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ ตลอดจนรักษาฐานสมาชิกปัจจุบันด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ดี ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่ตรงใจผู้บริโภค โดยกลยุทธ์ธุรกิจบัตรเครดิต จะเน้นการขยายฐานบัตรร่วมกับพันธมิตรรายใหญ่ ทั้งการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และพัฒนาปรับปรุง (Relaunch) บัตรเครดิตร่วม (Co-brand) ให้มีสิทธิประโยชน์ตรงใจและผูกสมาชิกกับบัตรในระยะยาวมากขึ้น ซึ่งลูกค้าจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการผนึกความแข็งแรงระหว่างเคทีซีกับพันธมิตรที่จะเกิดขึ้น สำหรับกลยุทธ์ส่งเสริมการใช้จ่ายผ่านบัตร ซึ่งเคทีซียืนหนึ่งในการครองความหลากหลายและครอบคลุมร้านค้ายอดนิยมของสมาชิก จะยังคงใช้คะแนน KTC FOREVER และการผ่อนชำระรายเดือนเป็นแรงขับเคลื่อนกิจกรรมการตลาด และในปี 2565 จะใช้ความแข็งแกร่งของเครือข่ายพันธมิตร ขยายไปยังร้านค้ากลุ่มพรีเมี่ยมและไลฟ์สไตล์มากขึ้น เพื่อตอบรับความต้องการของกลุ่มสมาชิกระดับบนที่มีอยู่ และดึงดูดกลุ่มเป้าหมายใหม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะพัฒนาบริการต่างๆ เพื่อให้สมาชิกบัตรได้รับความสุขจากการใช้งานผ่านแอปฯ KTC Mobile หรือ KTC Phone รวมไปถึงบริการด้านการเดินทางท่องเที่ยวกับ “KTC World Travel Service” และการซื้อสินค้าบนอีมาร์เก็ตเพลซ “KTC UShop” โดยคาดว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2565 จะเติบโต 10% จากปี 2564 หรือประมาณ 220,000 ล้านบาท”
“ขณะที่กลยุทธ์ของธุรกิจสินเชื่อบุคคล จะมุ่งขยายฐานสมาชิกใหม่ในกลุ่มที่มีศักยภาพ ด้วยการนำเสนอสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) กับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำและมีฐานรายได้สูงขึ้น ด้วยแคมเปญแบ่งเบาภาระสมาชิก ลดดอกเบี้ยเหลือเพียง 0.93% ต่อเดือน และเพิ่มเวลาผ่อนให้นานถึง 60 งวด นอกจากนี้ในปี 2565 คนไทยจะได้รับความสะดวกขึ้นไปอีกขั้นกับการสมัครขอสินเชื่อออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านโมบาย แอปพลิเคชัน ในรูปแบบของใบสมัครออนไลน์ (Electronic Application) ผ่านระบบยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล (Electronic Know Your Customer หรือ E-KYC) ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการสังคมปัจจุบันที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา ไม่ต้องเดินทาง สำหรับฐานสมาชิกสินเชื่อบุคคลปัจจุบันกว่า 7 แสนราย เคทีซีจะมุ่งผูกใจระยะยาวด้วยแคมเปญแบ่งเบาภาระสมาชิกต่อเนื่อง ทั้งโครงการเคลียร์หนี้เกลี้ยงที่เพิ่มรางวัลมากขึ้นเป็น 600 รางวัล เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสรับสิทธิ์เคลียร์หนี้ 100% และ 10% ตลอดปี รวมทั้งพัฒนาการโอนเงินออนไลน์ผ่านบัญชีพร้อมเพย์เพื่อเพิ่มความสะดวกยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการโอนเงินผ่านแอปฯ KTC Mobile ไปยัง 13 ธนาคาร แบบเรียลไทม์ ตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนออกแคมเปญสิทธิประโยชน์กับร้านค้าชั้นนำ เพื่อให้ลูกค้าได้รับความคุ้มค่าเมื่อใช้บัตรกดเงินสดรูดซื้อสินค้า และยังสามารถผ่อนสินค้า 0% ได้ที่ร้านค้าร่วมรายการ ตอกย้ำความคุ้มค่าของการใช้วงเงินสินเชื่อบนบัตรกดเงินสดทั้ง 4 ฟังก์ชั่น “รูด โอน กด ผ่อน” โดยคาดว่ายอดลูกหนี้ในปี 2565 จะเติบโต 7% จากปี 2564”
“ในส่วนของกลยุทธ์การขยายฐานสมาชิก ในปีนี้ช่องทางการจัดจำหน่ายต้องทำงานอย่างหนักในเชิงรุก เพื่อกว้านลูกค้าทุกผลิตภัณฑ์เข้าพอร์ต โดยจะใช้จุดแข็งของแต่ละผลิตภัณฑ์เป็นจุดขาย ผนวกเข้ากับจุดแข็งของช่องทางการจัดจำหน่าย ผ่านธนาคารกรุงไทยเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ โดยคาดว่าความต้องการสินเชื่อบุคคลในปีนี้จะมีความต้องการสูง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว พ่อค้าแม่ค้า หรือผู้ประกอบการยังคงต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อมากอบกู้หรือขยายธุรกิจ แต่ก็เป็นความท้าทายที่ เคทีซีจะต้องกลั่นกรองความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ได้รับประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ท่ามกลางสภาวะทางเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบาง โดยตั้งเป้าปี 2565 เพิ่มสมาชิกใหม่บัตรเครดิตไม่ต่ำกว่า 250,000 ราย และเคทีซี พราว ไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย”
“การบริหารการเงินให้มีประสิทธิภาพ เป็นหัวใจหลักอีกเรื่องในการทำธุรกิจ บริษัทฯ จะมุ่งบริหารต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้เป็นสำคัญ โดยจะเพิ่มสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นมากขึ้น และคาดว่าสิ้นปี 2565 จะมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมระยะยาว (Original Term) อยู่ที่ 20:80 และต้นทุนการเงินจะใกล้เคียงกับปี 2564 ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี ทั้งนี้ จะมีการระดมเงินกู้ยืมระยะยาวในจำนวนไม่เกิน 12,000 ล้านบาท เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2565 จำนวน 9,500 ล้านบาท และสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเคทีซี อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อทิศทางของดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ การประกาศปรับลดวงเงินคิวอี การคาดการณ์ขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ”
“นอกจากนี้ เคทีซียังให้ความสำคัญกับการนำความยั่งยืน หรือ ESG ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เข้ามาบูรณาการกับการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ภายใต้แนวคิด Sustainable Development by Spirit เพื่อตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยแผนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนในระยะ 5 ปี เคทีซีจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาสร้างผลลัพธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสีย ด้วยระบบปฏิบัติการที่มีความปลอดภัย สร้างโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินของคนในสังคมอย่างทั่วถึง และคำนึงถึงการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ บรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมาเคทีซีได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนของ THSI (Thailand Sustainability Investment) เป็นปีที่ 3 และติดอันดับ ESG 100 ตั้งแต่ปี 2559 อีกทั้งได้รับ MSCI ESG Rating ประจำปี 2564 ที่ระดับ AA และยังได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนระดับโลก “FTSE4Good Index series”
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments