สมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงไตรมาสแรกธุรกิจประกันวินาศภัย โต 4.10%

คาดทั้งปี 61 โต3.5-4.5%
พร้อมเสนอภาครัฐขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวโพดและมันสำปะหลังต่อ

สมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ไตรมาสแรกของปี 2561 มีเบี้ยประกันภัยรับ 57,656 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.10คาดการณ์ทั้งปีเติบโตร้อยละ3.5-4.5มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 226,079-228,258ล้านบาท พร้อมนำเสนอโครงการประกันภัยข้าวโพดและมันสำปะหลังเพื่อต่อยอดโครงการประกันภัยข้าวนาปีซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีคาดว่าจะพร้อมในการรับประกันภัยให้แก่กลุ่มเกษตรกรชาวไร่ผู้ปลูกพืชดังกล่าวได้ภายในกลางปี 2561 นี้

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยกล่าวว่า ในปี 2560 ถือได้ว่าเป็นปีที่ธุรกิจประกันวินาศภัยต้องฝ่าฟันกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจากปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยของปี 2560 ที่ผ่านมา มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 218,434 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการประกันภัยที่ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี คือ การประกันภัยสุขภาพ ขยายตัวร้อยละ 7.75 การประกันภัยการเดินทาง ขยายตัวร้อยละ 3.91 และการประกันภัยรถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 3.21 เป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนของภาครัฐ และการส่งเสริมการประกันภัยของภาครัฐในการนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะโครงการประกันภัยข้าวนาปี เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเติบโต โดยในปีการผลิต 2560 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 1.76 ล้านราย มีพื้นที่รับประกันภัย จำนวน 26.12 ล้านไร่ มีเบี้ยประกันภัยรับรวมจำนวน 2,350.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.1 ของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงทั้งหมดของปี 2560

ผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ไตรมาสแรกของปี2561นี้ ยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างตต่อเนื่องโดยมีมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงจากการรับประกันภัยจำแนกตามช่องทางการขาย จำนวน 57,656 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.10 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการประกันภัยรถยนต์(7.01%)การประกันอัคคีภัย(4.97%)การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง(1.08%)ขณะที่การประกันภัยเบ็ดเตล็ด (-0.63%) มีการขยายตัวติดลบ ซึ่งไตรมาสแรกนี้ มีปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการขยายตัวของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าและสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย ปี2561 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ3.5-4.5เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 226,079-228,258ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยจากภาครัฐที่มีการส่งเสริมให้มีการลงทุน มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้มีการขยายตัวของการนำเข้าและส่งออก รวมทั้งกำลังซื้อรถยนต์บางส่วนที่จะกลับมาหลังจากหมดภาระรถคันแรก และสอดคล้องกับการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2561 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ที่คาดว่า GDP จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.2-4.7 เป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออกร้อยละ 8.9 การบริโภคภาคเอกชนร้อยละ 3.7 การลงทุนภาครัฐและเอกชนร้อยละ 8.6และ 3.9ตามลำดับ ส่วนด้านการท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยในปี 2561 ประมาณ 39 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 ส่วนตลาดรถยนต์โดยรวมในประเทศปี 2561 คาดว่าจะมีจำนวนรถใหม่ประมาณ 900,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 3.4 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีมากขึ้นซึ่งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะดึงเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศในโครงการขนาดใหญ่จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จากทุกปัจจัยรวมกันจึงคาดว่าอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยในปี 2561 จะได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ในปี 2561 นี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ขยายบทบาทของธุรกิจประกันวินาศภัยไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในแถบ CLMVมากขึ้นและส่งเสริมให้ธุรกิจบริษัทประกันวินาศภัยเกิดการควบรวมกิจการเพื่อลดต้นทุน ค่าใช้จ่าย เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ เพิ่มขนาดของเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อความมั่นคงของธุรกิจ ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดการควบรวมกิจการจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ภายใต้แรงกดดัน และพร้อมรับมือกับการแข่งขันและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจได้เช่น วิกฤติการทางเศรษฐกิจ การเกิดมหันตภัย ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการรายงานทางการเงิน IFRS9 และIFRS17หรือแม้แต่ปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองก็ตาม

อีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ควรคำนึงถึงในการบริหารธุรกิจและตอบโจทย์สังคมในยุคดิจิทัล คือ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อลดต้นทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้น มีการปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง นำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ที่สำคัญต้องคำนึงถึงการบริหารต้นทุน ค่าใช้จ่ายและราคาเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมและให้ความสำคัญในการบริการลูกค้า เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยนับจากนี้ต่อไป ในประเด็นดังกล่าวนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ดำเนินนโยบายในการส่งเสริม พัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทสมาชิก รวมถึงพัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนความรู้ให้กับบุคลากรในธุรกิจประกันภัยเพื่อรองรับกับกฎเกณฑ์ เงื่อนไข และสถานการณ์ของธุรกิจที่เปลี่ยนผ่านเข้าไปสู่โลกดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ได้แก่
- การจัดประกวดผลงาน StartupInsurTechในงานInsurTechIgniteHackathonโดยเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ (StartUp) รุ่นใหม่ เข้ามามีส่วนสำคัญในการนำเสนอแนวคิดและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับธุรกิจประกันวินาศภัย
- การจัดทำแผน Digital Insurance Framework ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารและจัดการของบริษัทประกันภัย
- การฝึกอบรมและการแข่งขันการป้องกันทางไซเบอร์ ด้วยระบบจำลองยุทธ์ทางไซเบอร์ให้กับบุคลากรฝ่ายไอทีของบริษัทประกันภัยเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการป้องกันและต่อต้านการโจมตีทางไซเบอร์
- การส่งเสริมพัฒนาความรู้ให้กับบุคลากรในธุรกิจประกันภัยอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการอบรมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุ โครงการอบรมเจ้าหน้าที่พิจารณารับประกันภัยรถยนต์ โครงการรางวัลผู้สำรวจอุบัติเหตุรถยนต์ดีเด่น (Best Surveyor Award) โครงการพัฒนาผู้บริหารธุรกิจประกันวินาศภัย (Insurance Management and Development Program: IMDP) เป็นต้น
- การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันวินาศภัยให้กับนักเรียน นักศึกษาและประชาชน เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการประกันวินาศภัย ในโครงการอัจฉริยะเยาวชนประกันภัย โครงการค่ายนักประกันวินาศภัยรุ่นเยาว์ หรือ Young Non-Life Insurer Camp เป็นต้น
- การถ่ายทอดองค์ความรู้ (Know-how) ด้านการจัดการสินไหมทดแทน ตามโครงการจัดอบรม CLMVT Claims Training for Surveyor ให้กับ Surveyor ของประเทศเพื่อนบ้านในแถบลุ่มแม่น้ำโขง

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังเป็นศูนย์กลางในการจัดทำข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยเพื่อให้บริการกับบริษัทสมาชิก ประกอบด้วย การจัดทำราคากลางรถยนต์ (TGIA Book) การจัดทำราคาค่าซ่อมรถยนต์ การรับรองคุณภาพอะไหล่ จัดทำต้นแบบแผนที่และแบบจำลองการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำท่วมเพื่อการพิจารณารับประกันวินาศภัย (Flood Risk Assessment: FRAM)รวมถึงจัดทำรายงานสถิติของธุรกิจประกันวินาศภัย วิเคราะห์และคาดการณ์ทิศทางแนวโน้มและโอกาสในการเกิดความเสี่ยงทุกรูปแบบ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจประกันวินาศภัยสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีศักยภาพ

นายจีรพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561นั้นได้เริ่มโครงการไปแล้วตามมติ ครม. ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมาโดยในปีนี้มีพื้นที่เป้าหมายในการรับประกันภัย จำนวน 30 ล้านไร่ แบ่งเป็นเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. จำนวน 29ล้านไร่ และเกษตรกรทั่วไป จำนวน 1ล้านไร่ ค่าเบี้ยประกันภัย 90บาทต่อไร่ ให้คุ้มครองความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งหมด 6ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บและไฟไหม้ วงเงินความคุ้มครอง 1,260บาทต่อไร่ และกรณีเกิดความเสียหายจากภัยศัตรูพืชและโรคระบาด วงเงินความคุ้มครอง 630บาทต่อไร่โดยเกษตรกรสามารถซื้อประกันภัยข้าวนาปีได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ของทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2561 โดยในปีนี้มีบริษัทสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 22 บริษัท

ทั้งนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐในการดูแลความเสี่ยงภัยอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรด้วยการนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งจากผลสำเร็จของโครงการประกันภัยข้าวนาปี สมาคมฯ ยังได้ศึกษาแนวทางในการขยายโครงการประกันภัยพืชผลไปสู่พืชอื่นๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมนำเสนอโครงการประกันภัยข้าวโพดและมันสำปะหลังต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเพื่อพิจารณาซึ่งคาดว่าจะมีความพร้อมในการรองรับการประกันภัยให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชดังกล่าวภายในกลางปีนี้ รวมถึงได้ลงพื้นที่สำรวจแปลงมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ร่วมกับ ผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงาน คปภ. และ บริษัทนายหน้าประกันภัยต่อ เพื่อศึกษาและเตรียมความพร้อมในการจัดทำรูปแบบการประกันภัยมันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ จังหวัดนครสวรรค์นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคม สมาคมฯ พร้อมด้วยภาคธุรกิจประกันภัยจะเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการประกันภัยพืชผลณประเทศเกาหลีใต้เพื่อศึกษาแนวทางการทำประกันภัยพืชผลเพื่อนำกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผลในประเทศไทยต่อไป

Visitors: 1,330,826