คปภ. ติวเข้มอนุญาโตตุลาการ เตรียมนำระบบ E-Arbitration มาใช้เพิ่มความแข็งแกร่ง
รองรับการระงับข้อพิพาทด้านประกันภัย ยุค New Normal
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.)เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. ประจำปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายด้านการประกันภัยที่มีการแก้ไขปรับปรุง ตลอดจนเงื่อนไข กรมธรรม์ประกันภัยรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาสามารถนำไปปรับใช้ในการพิจารณาและทำคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทด้านประกันภัยของอนุญาโตตุลาการ และเป็นการให้ความรู้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ คปภ. ตลอดจนเปิดโอกาสให้อนุญาโตตุลาการได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน โดยมีอนุญาโตตุลาการ และพนักงาน คปภ.ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เข้าร่วมรวมทั้งสิ้น 80 คน เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการนั้น จะแตกต่างจากการพิจารณาเรื่องร้องเรียนโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยผู้ชำนาญการ เนื่องจากอนุญาโตตุลาการจะมีอำนาจชี้ขาดข้อพิพาทซึ่งจะคล้ายกับการพิพากษาคดีของศาล ที่มีการกำหนดประเด็นข้อพิพาท มีการสืบพยานฝ่ายผู้เสนอข้อพิพาท และฝ่ายผู้คัดค้าน ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งอนุญาโตตุลาการ ผู้เสนอข้อพิพาท ผู้คัดค้าน และพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนพิจารณา ดังนั้น จึงได้จัดสัมมนาอนุญาโตตุลาการสำนักงาน คปภ. ประจำปี 2563 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายประกันภัยที่มีการแก้ไขปรับปรุง ตลอดจนเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ทั้งยังเป็นการทบทวนและให้ความรู้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ คปภ. ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากสมาคมประกันวินาศภัย ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการ และสำนักงาน คปภ. ในการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายประกันภัย รวมถึงจัดเสวนาในหัวข้อ “การระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการ และข้อขัดข้องที่พบในกระบวนการพิจารณา” เพื่อนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดสัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้นต่อไป
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลสถิติข้อพิพาทที่เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน คปภ. ปี 2563 พบว่า มีจำนวนข้อพิพาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานมีอยู่อย่างจำกัด ประกอบกับกรณีที่มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาในการจัดทำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ปัญหาการร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงจำเป็นต้องปรับตัวและทบทวนกระบวนการทำงาน รวมทั้งต้องหาเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ประชาชนตลอดจนผู้เอาประกันภัยได้รับการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วและเป็นธรรมยิ่งขึ้น สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของอนุญาโตตุลาการ รวมถึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ เพื่อแก้ปัญหากรณีมีประเด็นปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายต่าง ๆ และเพื่อความรอบคอบในการทำคำชี้ขาด ช่วยให้คำเสนอแนะหรือให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ
นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินงานตามกระบวนพิจารณาเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ประกอบกับสำนักงาน คปภ. มีการปรับตัวเข้าสู่การเป็น SMART OIC จึงได้มีการนำเทคโนโลยีมาเข้ามาใช้ในกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ โดยจัดทำโครงการ นำระบบ E-Arbitration มาใช้เป็นเครื่องมือในการรับคำเสนอข้อพิพาท คำคัดค้าน การวางเงินเป็นหลักประกัน (E-Payment) และการส่งร่างคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นการดำเนินการผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด “จากสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎกิตกาเกี่ยวกับการประกันภัยต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย อาทิ การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย ที่มีการเพิ่มบทลงโทษเรื่องของการฉ้อฉลประกันภัย
การออกประกาศเสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ Digital face-to-face ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ตลอดจนรูปแบบการดำเนินธุรกิจประกันภัยที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น อนุญาโตตุลาการ ของสำนักงาน คปภ. จึงต้องเตรียมรับมือให้พร้อม โดยต้องมีความรู้ความเข้าใจในระบบประกันภัย และกฎกติกาต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งต้องเติมเต็มองค์ความรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และทรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม อันจะส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัยไทย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments