BKI เผยทิศทางการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 2560
กรุงเทพประกันภัยเผยผลงานครึ่งแรกปี 2560 กำไรสุทธิ 1,287 ล้านบาท พร้อมมั่นใจคาดสิ้นปี 2560 สามารถบรรลุเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับที่ 17,200 ล้านบาท โดยเน้นสร้างความพร้อมรองรับการขยายงานด้าน Digital Marketing การเปิดสาขาใหม่ และการพัฒนา Application ใหม่ๆ เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างครอบคลุม เพิ่มความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญในการรักษาอัตราการต่ออายุกรมธรรม์ของลูกค้าปัจจุบันให้มากขึ้น
นายพนัส ธีรวณิชย์กุล กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยช่วงครึ่งหลังของปี 2560 โดยคาดว่าตลาดยังคงมุ่งการขยายงานลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ยังเป็นเป้าหมายหลักทางการแข่งขันของบริษัทประกันภัย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในปี 2560 จากที่หดตัวต่อเนื่อง 4 ปี (Toyota Motor Thailand : ครึ่งปีแรกเติบโตร้อยละ 11.2 ด้วยจำนวน 409,977 คัน) ซึ่งยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเติบโตกว่าร้อยละ 25 เป็นผลจากการสิ้นสุดระยะเวลาการถือครองรถยนต์ 5 ปีของนโยบายรถคันแรก ทำให้เจ้าของรถสามารถจำหน่ายและซื้อรถยนต์ใหม่ได้ ทั้งนี้ หากพิจารณาด้านการขยายงานประกันภัยรถยนต์ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คาดว่านอกเหนือจากการแข่งขันด้านราคาแล้ว บริษัทประกันภัยน่าจะมุ่งเน้นการขยายงานในตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อยู่ในภาคการเกษตรและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีมากขึ้น เป็นผลจากในปี 2560 นี้ไม่มีปัญหาภัยแล้งเหมือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลดีต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ผนวกกับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร : ดัชนีรายได้เกษตรกรในช่วง 6 เดือนแรกปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 และคาดว่า GDP ภาคการเกษตรจะขยายตัวร้อยละ 2.5 - 3.5 เปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 0.5) อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบในเรื่องผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายของภาคการเกษตรและภาคธุรกิจประมาณ 10,000 ล้านบาท ย่อมส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทประกันภัยต่างๆ มีแนวโน้มการแข่งขันด้านคุณภาพในการให้บริการงานประกันภัยและสินไหมทดแทน โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ตลอดจนเพื่อการควบคุมค่าใช้จ่าย โดยมีการพัฒนา Application บน Smartphone ให้มีฟังก์ชั่นที่หลากหลายและครอบคลุมการให้บริการมากยิ่งขึ้น จากเริ่มแรกที่เน้นการแจ้งเคลมเป็นหลัก โดยเพิ่มการให้บริการทั้งเรื่องการตรวจสภาพรถยนต์ออนไลน์ การต่ออายุกรมธรรม์ การชำระค่าเบี้ยประกันภัย และการพัฒนาให้ผู้เอาประกันภัยสามารถกำหนดช่วงเวลาคุ้มครองแบบ Tailor Made ตามพฤติกรรมการขับขี่หรือระยะเวลาในการใช้รถยนต์ของตนเองได้ เพื่อการประหยัดค่าเบี้ยประกันภัย
สำหรับการขยายงานลูกค้ารายย่อยผ่านช่องทาง Digital เริ่มมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนา Digital Platform ของบริษัทประกันภัยเอง และการร่วมมือเป็นพันธมิตรกับโบรกเกอร์ที่เน้นการจำหน่ายผ่านช่องทาง Digital โดยเฉพาะ ด้านการขยายงานกลุ่มลูกค้า Corporate นั้น จากที่อัตราเบี้ยประกันภัยต่อในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มลดลง ทำให้ตลาดประกันภัยยังคงเผชิญการแข่งขันรุนแรงด้านราคาของการรับประกันภัยทรัพย์สิน นอกจากนี้ เบี้ยประกันภัยรับจากงานประกันภัยโครงการก่อสร้างพื้นฐานคมนาคมของภาครัฐมีแนวโน้มไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ เนื่องจากการเลื่อนการก่อสร้างในหลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) โครงการรถไฟรางคู่ 5 เส้นทาง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ประกันภัย Cyber Insurance น่าจะขยายตัวได้ดีสำหรับกลุ่มลูกค้า Corporate โดยมีแนวโน้มที่จะมีบริษัทประกันภัยขออนุมัติจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี 7 บริษัท (FPG, Allianz, AIG, Newhampshire, โตเกียวมารีน, ไทยประกันภัย และทิพยประกันภัย ที่มา: คปภ. มิ.ย. 60) ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคและภาคธุรกิจเริ่มมีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง Cyber Risk และตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันภัย Cyber มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเป้าหมายในการถูกโจรกรรมฐานข้อมูลลูกค้าในระดับต้น ๆ เช่น สถาบันการเงิน สถานพยาบาล ธุรกิจการขนส่ง เป็นต้น
ทั้งนี้ ด้านการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2560 นั้น สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้คาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ระดับไม่เกินร้อยละ 2 เนื่องจากเบี้ยประกันภัยหลายประเภทปรับลดลง ทั้งจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงและการปฏิบัติตามคำสั่ง/ประกาศของ คปภ. เช่น การให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยภาคสมัครใจสำหรับรถยนต์ที่ติดกล้อง CCTV 5-10% ส่วนลดสำหรับกรมธรรม์ปลอดแอลกอฮอล์ 10% การปรับลดอัตราประกันอัคคีภัยลง 10-15% เป็นต้น
ด้าน ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เผยถึงผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนของปี 2560 มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 7,978.1 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 มีกำไรสุทธิจากการรับประกันภัยหลังหักค่าใช้จ่าย ในการดำเนินงานแล้ว 716.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.5 รายได้สุทธิจากการลงทุน 742.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.5 มีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 1,459.5 ล้านบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้แล้ว บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,287.0 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 0.3 และมีกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน 12.09 บาท
สำหรับทิศทางการดำเนินงานของกรุงเทพประกันภัยในปี 2560 บริษัทฯ ยังคงตั้งเป้าหมายที่ท้าทายด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม 17,200 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณร้อยละ 6-7 โดยให้ความสำคัญกับการรักษาฐานงานต่ออายุให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการขยายงานใหม่ที่กำหนดให้ทำ Risk Survey อย่างเข้มงวดเพื่อการคัดเลือกงานที่ดี สำหรับประกันภัยรถยนต์ บริษัทฯ ไม่เน้นการแข่งขันด้านราคา แต่คำนึงถึงหลักดุลยภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยได้มีการนำฐานข้อมูลของลูกค้าที่มีอยู่มาใช้วิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจในการกำหนดความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าแต่ละ Segment
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีนโยบายขยายงานในผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่พนักงานมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น ประกันภัย Marine ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption) ประกันภัย D&O การประกันภัยสินเชื่อทางการค้า (Trade Credit Insurance) ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการที่รวดเร็ว ทันสมัย และเข้าถึงลูกค้าได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น โดยได้เตรียมการดำเนินการไว้ ดังนี้
• การเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 3 สาขา ที่จังหวัดลำปาง สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี ซึ่งจะทำให้กรุงเทพประกันภัยมีสาขาทั้งหมด 37 แห่ง และมีจุดบริการด้านประกันภัยในห้างสรรพสินค้า หรือ BKI Care Station รวม 25 แห่ง
• สร้างความพร้อมรองรับการขยายงานด้าน Digital Marketing อย่างจริงจัง ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความคุ้มครองและราคาที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า ทำการเชื่อมโยงระบบการขายผ่าน Online Aggregators ต่างๆ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีประกันภัย (Insurtech) เข้ามาเสริมสร้างการให้บริการลูกค้าและคู่ค้า ดังเช่น
- การพัฒนา Functions บนระบบ Telematics ให้รองรับลูกค้ากลุ่มบริษัท Logistics กลุ่มรถเช่า และต่อไปจะพัฒนาสู่การเป็น Mobile Technology Solution
- การวางแผนนำเทคโนโลยี Drone เข้ามาใช้ในการสำรวจภัย โดยเฉพาะในจุดที่อันตรายและเข้าถึงได้ยาก
- การจัดตั้งหน่วยงานใหม่ คือ Digital Innovation Division เพื่อรับผิดชอบการพัฒนาช่องทางจำหน่าย Digital และวางแผนกลยุทธ์การตลาดด้านช่องทาง Digital โดยเฉพาะ
- การพัฒนา BKI EsCard เพื่อตอบโจทย์ความเป็น Digital Lifestyle Insurance
เพื่อให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดการทำประกันภัยของตนได้ตลอดเวลาทดแทนการจัดเก็บกรมธรรม์ในรูปของเอกสารนอกจากนี้ยังสามารถทำการต่ออายุกรมธรรม์ และแจ้งเคลมรถยนต์ออนไลน์ได้ด้วย
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯ ยังมีนโยบายจูงใจลูกค้าให้ใช้บริการแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ได้มีการพัฒนามากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อลูกค้าที่จะได้รับความสะดวกสบายและรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนการบริการได้ในระยะยาว เช่น ต้นทุนการเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ ต้นทุนการตรวจสภาพรถยนต์ เป็นต้น