บมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น เตรียมขาย IPO 75ล้านหุ้น

ระดมทุนลุยระบบออนไลน์รับธุรกิจประกันภัยดิจิทัล

สำนักงาน ก.ล.ต.นับหนึ่ง ไฟลิ่ง บมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (บริษัทฯ) พร้อมเดินหน้าเสนอขายหุ้น IPO ในจำนวนไม่เกิน 75,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 1.0 บาทต่อหุ้น ตั้งเป้านำเงินจากการระดมทุนพัฒนาระบบออนไลน์รับสังคมยุคดิจิทัล ด้านผู้บริหาร พร้อมเดินหน้ารุกขยาย 4 กลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รับการเติบโตอุตสาหกรรมประกันภัย

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม เปิดเผยว่า หลังจาก บมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น หรือ TQM ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงและร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง)ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ล่าสุด สำนักงานก.ล.ต.ได้นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อย

โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท โดยเป็นทุนที่ชำระแล้ว 225 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.0 บาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 75,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25.00 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งในจำนวนนี้จะจัดสรรให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือพนักงานบริษัท และ/หรือพนักงานบริษัทย่อย (ESOP)จำนวนไม่เกิน11,250,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.75ของทุนชำระแล้วภายหลังจำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขายทั้งหมด และส่วนที่เหลือจะเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป

นางสาวพันทิตา แซ่เอ็ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวานิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด(มหาชน)ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม เปิดเผยว่า บริษัทฯจะระดมทุนเพื่อนำไปใช้พัฒนาโครงการสำหรับปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และ โครงการพัฒนากระบวนการทางธุรกิจ โดยลงทุนในระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) รวมถึงการเพิ่มทุนชำระแล้วในบริษัทแกน ได้แก่ บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด (“TQM Broker”) และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

ทั้งนี้หากสำนักงานก.ล.ต. อนุมัติแบบไฟลิ่งและแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ให้ให้แก่ประชาชนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกเป็นที่เรียบร้อย จะร่วมกันกำหนดวันที่เหมาะในการเสนอขายหุ้น IPO และคาดว่าจะนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในปีนี้

ดร.อัญชลิน พรรณนิภา ประธานคณะกรรมการบมจ. ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่นผู้นำธุรกิจให้บริการนายหน้าประกันภัยในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “TQM ไม่หยุดทำดีที่สุดเพื่อคุณ”เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของ บริษัทฯแบ่งการให้บริการเป็น4 ด้าน คือ(1) ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย ให้บริการผ่าน บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด (“TQM Broker”)โดยมีการขายผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยทั้งสิ้นกว่า 130 ผลิตภัณฑ์ ทั้งในกลุ่มประกันรถยนต์ (Motor) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และกลุ่มประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ และกลุ่มประกัน Non-Motor ในรูปแบบประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และประกันวินาศภัยเบ็ดเตล็ด เป็นต้น  (2) ธุรกิจนายหน้าประกันชีวิต ดำเนินธุรกิจผ่าน บริษัท ทีคิวเอ็ม ไลฟ์ อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด (“TQM Life”) ซึ่งมีการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตทั้งสิ้นกว่า 20 ผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมทั้งประกันชีวิตประเภทรายบุคคลและประกันชีวิตประเภทกลุ่ม

(3) ธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟต์แวร์ผ่านบริษัท แคสแมท จำกัด (“Casmatt”) ซึ่งครอบคลุมการให้คำปรึกษาด้านกระบวนการทางธุรกิจ งานวิจัยตลาดดิจิตอล เป็นต้น และ (4)ธุรกิจให้บริการด้านคำแนะนำเกี่ยวกับประกันภัย ผ่านบริษัท ทีคิวแอลดี จำกัด (“TQLD”) ซึ่งเป็นบริษัทร่วม เพื่อเป็นช่องทางให้กับลูกค้าในการค้นหาและเปรียบเทียบข้อมูลประกันภัยได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดเวลา ผ่านรูปแบบการกรอกข้อมูลของลูกค้า ทั้งนี้ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทฯ มีพันธมิตรที่เป็นบริษัทประกันภัยกว่า 40 แห่ง มีพนักงานขายที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้าประกันภัยให้บริการกว่า 2,000 คน ผ่านสาขาและศูนย์บริการทั่วประเทศรวม 95 แห่ง ที่สามารถให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมและทั่วถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย

ดร. นภัสนันท์ พรรณนิภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ. ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่นเปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจของ บริษัทฯมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง มีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมประกัน ทำให้โอกาสเติบโตมีมาก นอกจากนี้ อัตราการทำประกันภัยในประเทศไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน โดยจากข้อมูลรายงานธุรกิจประกัน ประจำปี 2559 ของ สวีส รีอินชัวร์รัน ซึ่งเป็นบริษัทประกันชั้นนำของโลก พบว่าธุรกิจประกันของประเทศในทวีปเอเชีย ประเทศไทย มีสัดส่วนเบี้ยประกันรับรวมทุกประเภทต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Insurance Penetration) ที่ร้อยละ 5.42 หากพิจารณา เบี้ยประกันภัยต่อคน (InsuranceDensity)พบประเทศไทย มีเบี้ยประกันภัยต่อคน (Insurance Density) เพียง 323.4ดอลลาร์สหรัฐต่อคน (GDP) ต่อจำนวนประชากรต่ำกว่าประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ซึ่งผลดังกล่าวทำให้บริษัทฯ ได้รับประโยชน์จากอุตสาหกรรมประกันที่มีโอกาสขยายตัวได้อีกในอนาคต โดยกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งประกอบธุรกิจนายหน้าประกันภัย ไม่มีความเสี่ยงด้านการดำรงเงินกองทุนฯ และการบริหารผลตอบแทนจากเบี้ยประกันภัย 


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 1,330,822