TSFแจงปมปัญหาค้างค่าเช่าป้ายโฆษณากทม.ยืนยันรอศาลตัดสิน

บมจ.ทรีซิกตี้ไฟว์ (TSF) แจงปมปัญหาค้างค่าสัมปทานป้ายโฆษณากรุงเทพมหานคร เผยเกิดข้อพิพาทและกำลังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่ไม่สามารถขายโฆษณาได้ ยืนยันไม่นิ่งนอนใจพยายามเจรจาแต่ได้รับการปฏิเสธ เดินหน้าเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากภาครัฐ ขณะนี้รอการตัดสินจากศาลปกครองกลาง

นายวิโรจน์ วชิรเดชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) หรือ TSF ชี้แจงกรณีที่นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิติดตั้งป้ายเสาสูงของ กทม. จำนวน 1,170 ป้าย เริ่มสัญญาตั้งแต่ปี 2555 แต่เมื่อต้นปี 2561 บริษัทหยุดจ่ายเงินชำระค่าตอบแทนให้ กทม.จนถึงปัจจุบัน มียอดเงินค้างชำระกว่า 200 ล้านบาท กทม.จำเป็นต้องทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและให้บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ฯ หยุดติดตั้งภาพโฆษณา พร้อมรื้อถอนทรัพย์สิน ถอดภาพโฆษณาทางการค้าออกจากป้ายทั้งหมดที่กระจายตามพื้นที่ 50 เขต ให้แล้วเสร็จ จากนั้น กทม.จะเข้าดำเนินการรื้อถอนเอง ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป”

ทั้งนี้ บริษัทขอชี้แจงว่า การที่กทม.ยกเลิกสัญญา พร้อมทั้งเตรียมถอดป้ายโฆษณาออก ทั้งที่อายุสัมปทานเหลือเพียงแค่ 35 วันเท่านั้น ที่สำคัญสัมปทานนั้นยังมีข้อพิพาทและอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง และต้องรอการวินิจฉัยจากศาลปกครอง บริษัทฯ กำลังให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบว่าต้องรอการวินิจฉัยของศาลก่อนหรือไม่ ส่วนเรื่องการค้างชำระค่าตอบแทนนั้น เนื่องจากบริษัทมีข้อพิพาทกับ กทม.ทั้งหมด 3 คดี ซึ่งบริษัทได้รับความเสียหาย และทางศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้รวมการฟ้องร้องทั้ง 3 คดีให้เป็นคดีเดียวกัน ฉะนั้น คดีความทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ขณะเดียวกันทางบริษัทได้ทำหนังสือชี้แจงไปยัง กทม. ตั้งแต่ต้นปี โดยระบุว่าค่าสัมปทานที่จะต้องจ่ายให้กับกทม.นั้น บริษัทฯ ขอหักลบกลบหนี้กับทาง กทม.ที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัท เช่นเดียวกับกรณีที่กทม.ชะลอการดำเนินงานการรื้อถอนกับตู้โทรศัพท์สาธารณะที่มีคดีในศาลปกครอง

นายวิโรจน์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นและพยายามขอพบเพื่อเจรจากับทาง กทม. แต่ได้รับการปฏิเสธไม่ให้เข้าพบตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ TSF ได้ดำเนินการฟ้องร้องค่าเสียหายจาก กทม.แต่ไม่ได้รับการตอบรับจนใกล้จะหมดสัญญาสัมปทานในเดือนพฤศจิกายน 2561 ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งผู้บริหารในชุดนั้นบางส่วนได้เกษียณไปแล้ว และเป็นไปได้ว่าคณะทำงานชุดใหม่น่าจะไม่เข้าใจปัญหาจึงไม่เปิดโอกาสให้ TSF เข้าพบเพื่อเจรจา

อย่างไรก็ตาม ปมปัญหาที่ทำให้เกิดกับ กทม. นั้นบริษัทขอชี้แจงว่า ตั้งแต่ได้รับสัมปทานสิทธิ์บริหารป้ายโฆษณาได้มีข้อพิพาทกับทาง กทม. จึงไม่สามารถขายโฆษณาได้ และบริษัทได้ดำเนินการฟ้องร้อง กทม. ให้ชดเชยค่าเสียหายในข้อหาผิดสัญญา ขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการตัดสินของศาลปกครอง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

-คดีที่ 1 วันที่ 7 เมษายน 2558 TSF เป็นโจทก์ฟ้องกทม.มูลค่า 389 ล้านบาท เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายกรณีที่ กทม.ผิดสัญญาการส่งมอบศาลาที่พักผู้โดยสารและป้ายโฆษณาที่ไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานให้แก่บริษัท ทั้งที่ TSF ทำการประมูล E-Auction ตามขั้นตอนปกติและเป็นผู้ชนะการประมูล โดยได้รับสิทธิดูแลบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำ

ทางกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) 3 ฉบับ คือ โครงการ A, C และ 691 ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้TSF ชนะการประมูลด้วยราคาที่สูงกว่าค่าสัมปทานเดิมถึง 8 เท่า แต่หลังจากนั้น TSF ได้ทำการสำรวจป้ายเดิมที่ผู้ได้รับสัมปทานก่อนหน้านี้ได้ทำการติดตั้งไว้พบว่าป้ายมีความสมบูรณ์ 100% และภายหลังจากที่ TSF ได้รับมอบสัญญาป้ายจาก กทม. ปรากฏว่าอุปกรณ์ภายในถูกถอดออกไปและไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตามที่ระบุใน TOR ทำให้ TSF ต้องใช้เวลาในการติดตั้งป้ายให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเพื่อดำเนินการขายโฆษณาได้ตามปกติ

ดังนั้น TSF จึงได้ขอระงับการชำระค่าใช้สิทธิรายเดือนและค่าตอบแทนรายปี นับตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2556 เพราะทำให้ขาดรายได้ในการขายสื่อโฆษณาเป็นเวลา 6 เดือน แต่ได้รับการปฏิเสธจาก กทม. แต่ TSF ยังคงต้องชำระค่าสิทธิรายเดือนให้กับ กทม.จึงทำให้ขาดทุนในโครงการดังกล่าว จึงเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน จำนวน 389 ล้านบาท

-คดีที่ 2 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 TSF เป็นโจทก์ฟ้องกทม.มูลค่า 578 ล้านบาท เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจาก กทม. กรณีมีคำสั่งระงับการติดตั้งป้ายโฆษณาตามสัญญากลุ่ม A และ C เพราะหลังจากที่ TSF ลงนามสัญญากับ กทม. สื่อมวลชนได้ลงข่าวว่าป้ายโฆษณาเดิมที่ติดตั้งโดยผู้ได้รับสัมปทานก่อนหน้านี้บดบังทางเท้า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงได้สั่งระงับการติดตั้งป้ายโฆษณาไปอีก 6 เดือน ทำให้การดำเนินโครงการล่าช้าTSF จึงได้ยื่นจดหมายขอเจรจาเรื่องงดจ่ายค่าใช้สิทธิรายเดือนและค่าตอบแทนรายปีแต่ได้รับการปฏิเสธจาก กทม. ทำให้TSF มีผลการดำเนินงานขาดทุนอย่างต่อเนื่อง TSF จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน จำนวน 578 ล้านบาท

-คดีที่ 3 กทม.เป็นโจทก์ฟ้อง TSF มูลค่า 1,123 ล้านบาท เรียกร้องค่าเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาให้สิทธิ์เอกชนดูแลบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารประจำทาง


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 1,330,836