ปภ. เผย “นครพนมโมเดล” ช่วยเยียวยารถยนต์ นาข้าว บ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม

ภาคอีสานได้รับค่าสินไหมทดแทนฉลุย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าตามที่ได้เกิดเหตุอุทกภัยขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระบบเพื่อวางมาตรการป้องกันและเยียวยาด้านการประกันภัยแก่ประชาชน โดยได้มีการสนธิกำลังลงพื้นที่ในภาคอีสาน นำร่องที่จังหวัดนครพนมเพื่อมอบเครื่องอุปโภค บริโภค รวมถึงน้ำดื่มในการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัย พร้อมทั้งกำหนดเป็น “นครพนมโมเดล” เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับจังหวัดอื่นๆ ทั้งในการเยียวยาผู้ประสบภัย และการเร่งประสานงานการสำรวจภัยและการประเมินความเสียหาย รวมทั้งประสานติดตามเร่งรัดให้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม

ทั้งนี้จากการมอบหมายให้สำนักงาน คปภ. ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศติดตามและรายงานความเสียหายรวมถึงประสานงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทประกันภัยในการเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัย จากรายงานเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 พบว่ามีพื้นที่ความเสียหายทั้งสิ้น 36 จังหวัด ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศภัยพิบัติ จำนวน 329 อำเภอ และที่ไม่มีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติอีกจำนวน 141 อำเภอ มีรถยนต์ที่มีประกันภัยและได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 1,341 คัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 180,393,726.36 บาท ซึ่งบริษัทประกันภัยได้ดำเนินการรับผิดชอบจัดซ่อมรถยนต์ทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่บ้านเรือนที่มีประกันภัยและได้รับความเสียหายมีจำนวนทั้งสิ้น 159 หลัง คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 71,260,838.89 บาท บริษัทประกันภัยได้ดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนครบทุกหลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับความเสียหายต่อนาข้าวที่มีประกันภัย มีจำนวนทั้งหมด 1,015,579.53 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 582,850,206.54 บาท ซึ่งบริษัทประกันภัยได้ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนครบถ้วนแล้วเช่นกัน ทั้งนี้ตนได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ในงานพิธีเปิดที่ทำการแห่งใหม่ของสำนักงาน คปภ. ภาค 5 (อุบลราชธานี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่เลขที่ 131 ถนนศรีณรงค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่าสำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้เป็นอย่างมาก จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยและใช้ระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งในกรณีของอุทกภัย กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครอง ได้แก่ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติเพิ่มเติม กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) หรือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภทอื่นที่ซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติเพิ่มเติมกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) รวมถึงกรมธรรม์ประกันชีวิต สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ที่เกษตรกรได้ซื้อไปแล้ว จะได้รับความคุ้มครองจากภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนักด้วย ซึ่งเกษตรกรจะได้รับวงเงิน

คุ้มครอง 1,260 บาท ต่อไร่ ขอให้ผู้เอาประกันภัยตรวจสอบกรมธรรม์ด้วยว่าเป็นแบบใดและคุ้มครองเพียงใด ซึ่งหากมีข้อสงสัยให้ประสานงานกับบริษัทที่รับประกันภัยหรือ สายด่วน คปภ. 1186


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 1,330,947