เบี้ยประกันชีวิตรวมสิ้นเดือนสิงหาคม ปี 60 เติบโตเพิ่มขึ้น 6.58 %
นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า เบี้ยประกันชีวิตรับรวมตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม 2560 รวมทั้งสิ้น 389,738.34 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.58 โดยแยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่จำนวน 108,034.55 ล้านบาท และเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไปจำนวน 281,703.79 ล้านบาท โดยมีอัตราความคงอยู่ร้อยละ 84 โดยเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ ประกอบด้วย (1) เบี้ยประกันชีวิตรับปีแรกจำนวน 65,798.16 ล้านบาท และ (2) เบี้ยประกันชีวิตรับจ่ายครั้งเดียวจำนวน 42,236.38 ล้านบาท
ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 สำหรับผู้มีเงินได้ที่เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษี ควรเริ่มวางแผนทางการเงินเพื่อหักลดหย่อนภาษีได้แล้วในขณะนี้ ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของภาครัฐ การซื้อประกันชีวิตก็เป็นหนึ่งในช่องทางที่ทำให้ผู้เสียภาษีมีสิทธิได้รับการหักลดหย่อนภาษี รวมทั้งสร้างความมั่นคงให้แก่ตนเองและครอบครัวได้อีกด้วย โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครองภัยตั้งแต่10ปีขึ้นไป สามารถนำเบี้ยประกันภัยไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากรได้สูงสุดถึง 100,000 บาท และเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์แบบบำบาญ สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 200,000 บาท แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในปีนั้น ซึ่งประกันชีวิตแบบบำนาญนี้เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว (RMF) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
สำหรับการเสียภาษีในปีนี้ ถือเป็นข่าวดีของผู้มีเงินได้ที่เข้าเกณฑ์จะต้องเสียภาษีเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะมีสิทธิได้รับการหักลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันสุขภาพ เนื่องจากรัฐบาลมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพ ที่ให้ประชาชนสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี โดยจะต้องเป็นเบี้ยประกันสุขภาพที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป ซึ่งการประกันสุขภาพที่กล่าวตามข้างต้น หมายถึง
1) การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
2) การประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
3) การประกันภัยโรคร้ายแรง และ
4) การประกันภัยการดูแลระยะยาว
มาตรการดังกล่าวข้างต้น สมาคมเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกด้าน ทั้งภาคธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับรวมเพิ่มขึ้น จากการที่ประชาชนตื่นตัวในเรื่องการวางแผนสุขภาพ และเกิดแรงจูงใจในการซื้อสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นจากมาตรการภาษีดังกล่าว ด้านผู้เอาประกันชีวิต ก็จะมีหลักประกันสำหรับดูแลตนเองในยามเจ็บป่วย เพื่อลดภาระตนเองและครอบครัว ตลอดจนลดการพึ่งพิงของภาครัฐในการแบกรับค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลของประชาชนลดลง ส่งผลให้รัฐบาลมีเงินไปพัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชนเพิ่มขึ้น
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายข้อมูลเพื่อการพัฒนาธุรกิจ สมาคมประกันชีวิตไทย โทรศัพท์ 0 2679 8080 ต่อ 532 หรือ Download ข้อมูลสถิติได้จาก http://www.tlaa.org/2012/statistics.php