กรมการค้าต่างประเทศ เดินหน้าจัดสัมมนา ซีรีส์ 3 :
“ล้วงลึกยุทธศาสตร์พญามังกรใหม่ ไทยได้อะไรจาก One Belt, One Road”
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตลาดที่สำคัญอย่างมากกับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก ตามข้อมูลขององค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2558 ปริมาณการค้าของจีนรวมมูลค่าสูงถึง 3.96 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แซงสหรัฐอเมริกา และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 (มกราคม-มิถุนายน) จีนถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับสองของไทย รองจากประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ โดยไทยมีมูลค่าการค้ากับจีนรวม 35,063.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการส่งออก 13,834.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้า 21,228.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญ เช่น ยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ส่วนประกอบของกลอุปกรณ์ทำด้วยผลึกเหลว หน่วยเก็บของเครื่องประมวลผล และมันสำปะหลัง สินค้านำเข้าสำคัญจากจีน ได้แก่ เครื่องรับโทรทัศน์ ของอื่นๆ ทำด้วยเหล็กกล้า เครื่องจักรสำหรับการรับ/เปลี่ยน/ส่ง/สร้างภาพหรือข้อมูลอื่นๆ และเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติแบบพกพา
นางดวงพร รอดพยาธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา รัฐบาลนาย สี จิ้นผิง ได้ชูยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road หรือ Belt and Road Initiative) ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงทางการค้า (connectivity) และความร่วมมือ (cooperation) ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการขยายการค้าในระดับภูมิภาคระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับกลุ่มประเทศยูเรเซีย (ยุโรปและเอเชีย) ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ เส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) เป็นการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางบกที่เป็นเส้นทางสายไหมเดิมด้วยการพัฒนา “สะพาน” เชื่อมในลักษณะระเบียงเศรษฐกิจระหว่างภาคตะวันตกของจีนไปสิ้นสุดที่ทวีปยุโรป และเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) เป็นการเชื่อมโยงทางทะเล ผ่านเส้นทางเดินเรือที่ผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และแอฟริกา ไปสู่ทวีปยุโรป กล่าวได้ว่าเป็นนโยบายที่จะส่งผลต่อประเทศสมาชิกอาเซียนและไทยในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน