สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ขยับมุมมองจีดีพีปี 60
เผยเศรษฐกิจดี แต่คนรัดเข็มขัด ประหยัด ฉุดเงินหมุนเวียนในระบบ
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2560 จาก 3.2% เป็น 3.7% และจาก 3.5% เป็น 3.8% ในปี 2561 เนื่องจากรายงานล่าสุดของสภาพัฒน์ฯ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ออกมาดีเกินคาด โดยขยายตัว 3.7% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และขยายตัว 1.3% เทียบไตรมาส 1 ซึ่งเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัว 3.3% สำนักวิจัยฯจึงได้ขยับประมาณการจีดีพีให้สูงขึ้น
“ประเด็นที่ได้ยินบ่อยช่วงนี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจดี แต่ทำไมคนถึงไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี สำนักวิจัยหลายแห่งปรับประมาณการขึ้น แต่คนกลับบ่นว่ายอดขายไม่ดี กำไรหดตัว เงินเฟ้อต่ำแต่ทำไมต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคค้าปลีกโตต่ำกว่าภาคอื่น และความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง การที่คนรู้สึกสวนทางกับรายงานเศรษฐกิจนั่นเพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรอบนี้กระจุกตัวในคนบางกลุ่ม การเชื่อมโยงของคนมีรายได้ดีไปสู่คนรายได้ไม่ขยับขึ้นนั้นมีน้อยลง” นายอมรเทพ กล่าว
นายอมรเทพ กล่าวว่า เศรษฐกิจรอบนี้ฟื้นตัวที่ภาคท่องเที่ยวและส่งออก แต่ไม่ใช่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาขึ้นตามราคาน้ำมัน ผู้ได้ประโยชน์คือคนที่มีรายได้จากภาคเกษตร ทั้งราคาพืชผลดีและผลผลิตมากขึ้นกว่าปีก่อนที่มีภัยแล้ง ยกเว้นกลุ่มชาวนาเพราะราคายังต่ำ ส่วนคนที่มีรายได้นอกภาคเกษตร รายได้กลับไม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนทำงานภาคการผลิต ก่อสร้าง สอดรับกับการลงทุนที่กลับมาขยายตัวแต่ยังขยายตัวต่ำ จำกัดเพียงบางอุตสาหกรรม และหลายอุตสาหกรรมมีอุปทานส่วนเกิน ด้านภาคบริการเองก็ขยายตัวต่ำเช่นกัน ยกเว้นร้านอาหาร โรงแรม และขนส่งที่ได้ประโยชน์จากท่องเที่ยว
ขณะเดียวกัน การเชื่อมโยงของคนมีรายได้ดีไปสู่คนที่รายได้ไม่ดีนั้นมีน้อยลง แตกต่างจากในอดีตคนได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะใช้จ่ายก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน เช่น คนที่มีรายได้จากภาคเกษตรที่ดีจะจับจ่ายใช้สอยทำให้ภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมซึ่งก็คือคนรายได้ระดับกลางในเมืองได้ประโยชน์ มารอบนี้คนไม่ใช้จ่าย สำนักวิจัยฯสันนิษฐานว่า คนมีรายได้น้อยในภาคเกษตรนำเงินไปใช้หนี้ก่อน และเก็บเงินไว้ใช้ช่วงฉุกเฉินยามเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม หรือราคาพืชผลตกต่ำ เมื่อคนกลุ่มนี้ชะลอการใช้จ่าย ส่งผลให้คนรายได้ระดับกลางในเมืองมีรายได้ทรงตัวหรือลดลง แม้ในกลุ่มคนที่รายได้ไม่เปลี่ยนแปลงแต่ก็เกิดความไม่มั่นใจที่จะใช้จ่าย เกิดการระวังตัวและรัดเข็มขัด พฤติกรรมที่เปลี่ยนนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่หมุนเช่นในอดีต
นอกจากการเชื่อมโยงระหว่างคน กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กก็เชื่อมโยงกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้น้อยลงด้วย ดังเห็นได้ว่ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีรายได้และกำไรที่ขยายตัว ต่างกับกลุ่ม SMEs ที่ยอดขายไม่ดี กำไรหดตัว นั่นเพราะธุรกิจขนาดใหญ่มีโอกาสเชื่อมโยงกับภาคต่างประเทศได้มากกว่ากลุ่ม SMEs โดยเฉพาะภาคบริการและการส่งออก ขณะที่ SMEs เชื่อมโยงกับคนที่มีรายได้ระดับกลางล่างถึงล่าง ซึ่งรัดเข็มขัดและระวังการใช้จ่าย เงินจึงไม่ได้หมุนเข้าหากลุ่ม SMEs มากนัก นอกจากนี้ การแข่งขันที่รุนแรงในตลาด ทำให้การผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับผู้บริโภคไม่สามารถทำได้มากนัก หรือ SMEs เลือกที่จะลดราคาเพื่อแย่งลูกค้าจากคู่แข่งแทน
“พฤติกรรมคนสำคัญกับเศรษฐกิจ เมื่อเกิดความไม่เชื่อมั่น คนจะตัดรายจ่ายไม่จำเป็น ออมเงินให้มากขึ้น เพราะไม่แน่ใจกับรายได้ในอนาคต หรือนำไปใช้หนี้ทั้งในและนอกระบบเพื่อลดภาระดอกเบี้ย ก็เป็นที่มาว่าทำไมการบริโภคและการลงทุนในประเทศอ่อนแอ แม้เศรษฐกิจจะขยายตัว หากพิจารณาการประหยัด แม้เป็นเรื่องดีที่ควรส่งเสริมกันในระดับจุลภาค แต่หากทุกคนประหยัดพร้อมกันในระดับมหภาคแล้ว เศรษฐกิจก็เกิดภาวะหยุดชะงัก หรือเงินไม่หมุน ยอดขายลดลง การผลิตก็ชะลอออกไป ในช่วงที่ผ่านมาผมลองเดินสำรวจตลาด ถามพ่อค้าแม่ค้าว่าขายดีไหม กลับได้รับคำตอบจากแม่ค้าขายถั่วต้มว่าขายไม่ดีเพราะคนประหยัด แม้คนที่เดินส่วนมากจะเป็นมนุษย์เงินเดือนรายได้มั่นคง แต่พวกเขาก็ยังลดการซื้อสินค้าที่มีราคาถูก จึงไม่น่าสงสัยว่าคนที่น่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจรอบนี้น่าจะเป็นคนทำงานนอกระบบที่มีจำนวนมากในประเทศ” นายอมรเทพ กล่าว
สำหรับวิธีแก้ปัญหาหรือเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนกล้าใช้จ่ายนั้น น่าจะทำได้ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตยังดูดี แต่ไม่ใช่แค่พูดหรือสร้างภาพ ต้องมีมาตรการให้คนเชื่อมั่น ซึ่งการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุน หรือการลดดอกเบี้ยเพื่อให้คนใช้จ่ายและลดต้นทุนทางการเงินนั้นอาจไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ เพราะสิ่งที่นักลงทุนและผู้บริโภคต้องการคือทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต ในการตอบคำถามว่า ยอดขายจะดีไหม การส่งออกจะโตต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งนับว่าเกินการควบคุมบริหารของรัฐบาลหรือใครก็ตามที่ดูแลเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นปัจจัยต่างประเทศที่ควบคุมยาก แต่สิ่งที่ทำได้ คือการใช้กลไกรัฐวิสาหกิจหรือภาครัฐในการเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงการขนาดใหญ่ เพราะหากรัฐยังไม่เดินหน้า เอกชนก็ลังเลที่จะเดินตาม การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจึงเป็นเรื่องที่รอช้าไม่ได้
นายอมรเทพ กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 และทั้งปี 60 ยังคงไม่แตกต่างจากช่วงที่ผ่านมา คือการส่งออกและการท่องเที่ยวนำ การลงทุนภาครัฐน่าจะกลับมาขยายตัวหลังมีการอนุมัติโครงการใหม่ๆ แต่อุปสงค์ในประเทศผ่านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ แม้เราเชื่อว่าการลงทุนภาคเอกชนจะพลิกเป็นบวกได้ดีขึ้นหลังการส่งออกฟื้นต่อเนื่องราว 2 ไตรมาส นั่นคือจะไปเห็นในช่วงปลายไตรมาส 3 ต้นไตรมาส 4 แต่ก็คงเป็นการฟื้นตัวต่ำๆ ขณะที่เศรษฐกิจน่าจะไปเน้นที่ภาคบริการมากกว่าการผลิต
นอกจากนี้ แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดี แต่ต้องจับตาว่าจะยั่งยืนหรือไม่ เช่น การส่งออกที่โตได้ดีนั้นยังนับว่าต่ำแทบที่สุดในภูมิภาค ปัจจัยที่กระทบภาคการส่งออกนอกจากเงินบาทที่แข็งค่ากระทบต่อความสามารถในการแข่งขันแล้ว ผลิตภัณฑ์ส่งออกของไทยก็ยังคงเน้นไปทางสินค้าโภคภัณฑ์ที่ได้อนิสงค์จากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะยานยนต์และชิ้นส่วนยังคงอ่อนแอ มีเพียงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวได้ดี ซึ่งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังมีทิศทางไม่ชัดเจนนี้ ได้กระทบต่อภาคการผลิตของไทย ดังเห็นได้จากการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงต่ำ ท้ายสุดความเชื่อมั่นจะฟื้นตัวได้เพียงไรก็คงขึ้นอยู่กับว่าจะมีความชัดเจนด้านความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลหลังเลือกตั้งหรือไม่ เอกชนไม่ใช่รอการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่กำลังจับตาว่าหากรัฐบาลสามารถให้ความชัดเจนได้ว่าภายหลังการเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลชุดต่อไปจะหยิบยกและสานต่อสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไทยแลนด์ 4.0 หรือการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งความชัดเจนนี้ไม่ต้องรอจนถึงการเลือกตั้งก็ได้ สามารถทำได้ทันที และเชื่อว่าเอกชนจะเห็นโอกาสและลงทุนตามจนทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้แรงและทั่วถึงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี