กสิกรไทยรุกอินโดนีเซีย เข้าถือหุ้นแมสเปี้ยนแบงก์ 9.99%

หวังเป็นฐานรองรับการค้าการลงทุนสองประเทศ

กสิกรไทยเข้าถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน ในอินโดนีเซีย 9.99% รองรับยุทธศาสตร์ธนาคารแห่งเออีซีบวกสาม เผยเป็นแบงก์เล็กเน้นคุณภาพแนวทางทำธุรกิจสอดคล้องกันมุ่งดิจิทัล แบงกิ้ง เอสเอ็มอี เข้มบริหารความเสี่ยง พร้อมเครือข่ายสำนักงานกว่า 51 แห่งในเมืองสำคัญรองรับการค้าการลงทุนไทย-อินโดฯ คาดแตะ 7 แสนล้านบาท (2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในอีก 3 ปี

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้ายุทธศาสตร์การเป็นธนาคารแห่งเออีซีบวกสาม ในการขยายเครือข่ายและพันธมิตรให้บริการรองรับการค้าการลงทุนของลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศในอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยล่าสุดธนาคารกสิกรไทย ได้ เข้าไปถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน (Bank Maspion) ประเทศอินโดนีเซียในสัดส่วน 9.99%

ธนาคารแมสเปี้ยน เป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนระดับBUKU2 ที่มีศัยภาพของอินโดนีเซีย เน้นบริการกลุ่มลูกค้าบุคคลและธุรกิจเอสเอ็มอี มีวิสัยทัศน์สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย ในด้านการลงทุนพัฒนาดิจิทัล แบงกิ้ง เพื่อรองรับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยมีสัดส่วนเอ็นพีแอล (NPL) ระดับต่ำประมาณ 0.91% ขณะที่อัตราเฉลี่ยระบบธนาคารพาณิชย์อินโดนีเซียอยู่ที่ 2.93% มีเครือข่ายสำนักงานทั่วประเทศ 51 แห่ง ครอบคลุมเมืองสำคัญของประเทศที่ลูกค้าธนาคารกสิกรไทยเข้าไปทำธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าได้เข้าถึงการบริการด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และการให้คำปรึกษาโดยผู้ให้บริการท้องถิ่นที่มีความชำนาญ

นอกจากนี้ธนาคารแมสเปี้ยน นั้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มแมสเปี้ยน (Maspion Group) กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของอินโดนีเซีย ดำเนินธุรกิจหลากหลายประเภท อาทิ ธุรกิจการเงินธนาคาร ค้าปลีก/ค้าส่ง โลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ เป็นผู้เล่นอันดับหนึ่งในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคแบบถาวร อาทิเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้ในครัวเรือน มีฐานลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทำให้ธนาคารกสิกรไทยสามารถ เชื่อมต่อลูกค้าไทยเข้าไปในห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าของตลาดอินโดนีเซียได้ดียิ่งขึ้นผ่านการให้บริการกับแมสเปี้ยน

ตลาดอินโดนีเซียนั้นถือเป็นตลาดที่ท้าทาย ในเชิงภูมิเศรษฐศาสตร์เป็นประเทศเกาะที่มีวัฒนธรรมและกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย ซึ่งในปัจจุบันมีธนาคารให้บริการอยู่กว่า 100 ธนาคาร ทำให้เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมาก ดังนั้นการการเข้าถือหุ้นจึงเป็นการเดินหมากที่ตอบโจทย์ธุรกิจของทั้งลูกค้าและของธนาคารกสิกรไทยได้ดีที่สุด การเข้าไปถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยนของธนาคารกสิกรไทยครั้งนี้ แม้จะเป็นสัดส่วนที่ยังไม่มาก แต่เป็นการเริ่มต้นที่สะท้อนความมุ่งมั่นของธนาคารในการเข้าไปเป็นพันธมิตรทางการค้าการลงทุน ในฐานะธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 โดยธนาคารกสิกรไทยและธนาคารแมสเปี้ยนจะร่วมมือพัฒนาบริการด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ บริการเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และบริการดิจิทัล แบงกิ้ง เพื่อส่งเสริมศักยภาพการให้บริการระหว่างกันให้ดียิ่งขึ้น โดยมั่นใจว่าจะช่วยสนับสนุนให้ธนาคารกสิกรไทยสามารถให้บริการของแก่ลูกค้าธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียและลูกค้าอินโดนีเซียที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นายอาลิม มาคุส (Alim Markus) ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มแมสเปี้ยน เปิดเผยว่า ธนาคารแมสเปี้ยน มั่นใจว่าการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กับธนาคารกสิกรไทยในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาบริการร่วมกัน โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านดิจิทัล แบงกิ้ง และการให้บริการกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีกับธนาคารกสิกรไทย จะช่วยยกระดับบริการของกันและกันได้ในอนาคต ขณะเดียวกันเครือข่ายบริการของแมสเปี้ยนที่ครอบคลุมพื้นที่ธุรกิจสำคัญ ได้แก่ หมู่เกาะสุมาตรา หมู่เกาะชวา หมู่เกาะบาหลี หมู่เกาะสุลาเวสี และหมู่เกาะกาลิมันตัน จะช่วยสนับสนุนให้ลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยสามารถเข้าถึงบริการและคำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซียได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าวสอดคล้องกับธนาคารกสิกรไทย จึงนับเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่ลงตัวสามารถต่อยอดทางธุรกิจระหว่างกันได้ในอนาคต

นายปรีดี กล่าวตอนท้ายว่า ภูมิภาค AEC+3 นั้นถือเป็นตลาดที่สำคัญต่อภาคธุรกิจไทย ธนาคารกสิกรไทยจึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการเชื่อมโยงธุรกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาค ซึ่งในห้วงปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ขยายเครือข่ายการให้บริการในภูมิภาคอย่างครอบคลุมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสาขาในประเทศกัมพูชา การยกระดับการบริการเป็นธนาคารท้องถิ่นในประเทศลาวและจีน และล่าสุดก็คือประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดที่มีมูลค่าจีดีพีใหญ่เป็นอันดับที่หนึ่งในภูมิภาคเออีซี การเข้าไปถือหุ้นของธนาคารแมสเปี้ยนในครั้งนี้ ถือเป็น

การตอกย้ำการก้าวขึ้นเป็นธนาคารที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจแห่ง AEC+3 ของเรา ซึ่งในด้านของการให้บริการก็จะเริ่มให้บริการได้ทันทีในเดือนกันยายนที่จะถึง โดยในเฟสแรก จะเริ่มให้บริการกลุ่มลูกค้าธุรกิจก่อน ด้วยการเปิดforeign desk ที่จะมีตัวแทนของธนาคารกสิกรไทยไปประจำอยู่ที่อินโดนีเซียเพื่อช่วยเชื่อมโยงธุรกิจไทยสู่ตลาดได้ลึกขึ้น อีกทั้งช่วยให้ลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยเข้าถึงการให้บริการที่โดยผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

ปัจจุบันอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีประชากรมากถึง 260 ล้านคน เป็นอันดับที่ 4 ของโลก อัตราการเติบโตของจีดีพีอย่างต่อเนื่องขยับเข้าใกล้มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการวิเคราะห์ของ Deloitte อินโดนีเซียจะก้าวขึ้นมาเป็นตลาดที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลกภายในปี 2563 ปัจจุบันได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามาลงทุนมากเป็นอันดับต้น ๆ ในช่วงปี 2553-2558 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ที่ 55% รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลอินโดนีเซียในการปฏิรูปที่ดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ด้านมูลค่าการค้าระหว่างอินโดนีเซียและไทย ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 5.3 แสนล้านบาท และจากการเกิดบริการรับชำระด้วยสกุลเงินท้องถิ่นโดยตรงระหว่าง (exotic currency settlement initiative) ระหว่างสกุลบาทไทย และ สกุลรูเปียอินโดนีเซีย คาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศแตะ 7 แสนล้านบาท ภายในปี 2563 นอกจากนี้ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ประเทศอินโดนีเซีย (BKPM) ระบุว่ามูลค่าการลงทุนจากไทยเข้าในอินโดนีเซีย (TDI) ตั้งแต่ปี2553จนถึงปัจจุบัน คิดเป็นเม็ดเงินจำนวนกว่า 2.3 แสนล้านบาท

Visitors: 1,330,790